บอร์ดดีอีเห็นชอบแนวนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก เพิ่มศักยภาพการทำงานของภาครัฐ
22 ธ.ค. 2566, 15:26
วันนี้ ( 22 ธ.ค.66 ) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2580) ฉบับปรับปรุง โดยเพิ่มเติมโครงการที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาล นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งรองรับมาตรการ เป้าหมายหลัก เป้าหมายรองภายใต้นโยบายและแผนฯ ที่เกี่ยวข้อง เช่น 1) มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Digital Contribution to GDP) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2570 2) ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยใน World Digital Competitiveness Ranking อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก หรืออยู่ใน 3 อันดับแรกของอาเซียน 3) สถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy : DL) ของประชาชนคนไทย มีคะแนนมากกว่า 80 คะแนนภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งพิจารณาความสอดคล้องของ (ร่าง) นโยบายและแผนฯ กับแผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน เช่น แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมฯ (สำนักงาน กสทช.) แผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) แผนยุทธศาสตร์ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ (DGA) แผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ (Gistda) นโยบายและแผน Cybersecurity (NCSA) รวมทั้งให้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน ให้เป็นไปตามข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) มีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ 4 องค์ประกอบ คือ 1. บริหารจัดการความต้องการใช้คลาวด์ (Demand) (คณะกรรมการขับเคลื่อนแนวทางการขับเคลื่อนการใช้คลาวด์เป็นหลัก) 2. บริหารจัดการให้มีบริการคลาวด์อย่างเพียงพอ (Supply) (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) 3. บริหารจัดการด้วย Government Cloud Management (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานภายใต้ที่เกี่ยวข้อง) และ 4. ปรับปรุงระบบนิเวศการใช้บริการคลาวด์ และจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง) พร้อมทั้ง จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก เพื่อกำกับ ติดตาม และให้ข้อแนะนำในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานกลางประสานงานในการส่งเสริมและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว อีกทั้ง ผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลผ่านความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานของภาครัฐให้รวดเร็วและเท่าทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการขับเคลื่อนบริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศ (Digital ID) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เสนอ มี 3 เป้าหมายหลัก ดังนี้ (1) ให้หน่วยงานของรัฐใช้ Digital ID ที่เชื่อถือได้ ในการยืนยันตัวผู้ใช้บริการ e-services เพื่อลดการลงทะเบียนซ้ำซ้อน (2) ให้กรมการปกครอง ให้บริการข้อมูล และบริการตรวจสอบข้อมูล แก่ผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัล สำหรับตรวจพิสูจน์บุคคลธรรมดาสัญชาติไทย เช่น บริการข้อมูลบัตรประชาชน และบริการตรวจสอบข้อมูลชีวมิติ เป็นต้น (3) หน่วยงานของรัฐให้บริการชุดข้อมูลในรูปแบบ Verifiable Credential และ Verifiable Presentation สำหรับประชาชนใช้ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แทนกระดาษ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนบริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศ (Digital ID) ในปี 2567 ให้มีการใช้งาน Digital ID แพร่หลายและเพิ่มมากขึ้น
สำหรับกรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 (2565-2567) เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกำหนดแผนปฏิบัติการสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันกลยุทธ์มิติต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาให้องค์ประกอบของระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID มีความเหมาะสมและเป็นรูปธรรม ซึ่งมี 8 กลยุทธ์หลัก ดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 ดิจิทัลไอดีครอบคลุม บุคคล นิติบุคคล และบุคคลต่างชาติ พร้อมรองรับการยืนยันตัวตน กลยุทธ์ที่ 2 ประชาชนสามารถเลือกใช้ดิจิทัลไอดีในระดับความเชื่อมั่นที่เหมาะสมในการเข้าถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐและเอกชน กลยุทธ์ที่ 3 กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลและบริการ สนับสนุนการพิสูจน์ตัวตน กลยุทธ์ที่ 4 การใช้ดิจิทัลไอดีในการทำธุรกรรมของนิติบุคคลเป็นการใช้ดิจิทัลไอดีบุคคลธรรมดาของผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้นร่วมกับการมอบอำนาจ กลยุทธ์ที่ 5 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือของนิติบุคคล กลยุทธ์ที่ 6 ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล กลยุทธ์ที่ 7 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดนโยบายดิจิทัลไอดีในภาพรวม กลยุทธ์ที่ 8 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ โดยที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นำไปพิจารณากำหนดแนวทางการขับเคลื่อนตามเป้าหมายสำคัญ และรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นระยะ ๆ