นายกฯ - รัฐบาลเร่งผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง
22 ธ.ค. 2566, 15:30
วันนี้ ( 22 ธ.ค.66 ) เวลา 13.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีหารือกับกลุ่มเยาวชนและภาคเอกชน จังหวัดเชียงราย ณ ห้องประชุมตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล โดยนายปิยชนม์ ภุมวิภาชน์ ยุวทูต องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAMEO ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาสู่ 17 เป้าหมายของ SDGs เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยใช้เชียงรายโมเดล วางแผนมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และเน้นการส่งเสริมให้เครือข่ายเยาวชนและสถานศึกษาเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
โดยนายจักรพลฯ ได้กล่าวขอบคุณกลุ่มเยาวชนและภาคเอกชน และจะนำข้อเสนอไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหมต่อไป เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เหมาะสมกับจังหวัดเชียงราย
และวานนี้ (21 ธันวาคม 2566) เวลา 13.30 น. นายจักรพลฯ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้เร่งรัดหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปี 2567 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทั้ง 11 มาตรการ ครอบคลุมการจัดการไฟป่าและไฟในพื้นที่เกษตรกรรม การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง รวมถึงการลงทุนและการสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อจูงใจภาคเอกชนมาร่วมแก้ไขปัญหา และที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้งงบประมาณเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ติดตามการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการติดตามผลการประชุมคณะทำงานป้องกันและแก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในภาพรวมการดำเนินการและแผนระยะยาวของอุทยานฯ ซึ่งทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม
และการลงนามข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการร่วมบูรณาการจัดการป้องกัน แก้ไข ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ของเทศบาลตำบลเชิงดอยร่วมกับภาคีเครือข่าย 9 หน่วยงาน (เทศบาลตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ สถานีควบคุมไฟป่าห้วยฮ่องไคร้-ขุนแม่กวง หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม. 23 ชุดปฏิบัติการผาลาด และโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ในโครงการขยายผลการติดตั้งระบบตรวจวัดความร้อนในพื้นที่ป่าไม้ตำบลเชิงดอย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายอำเภอดอยสะเก็ดเป็นประธานเปิดโครงการฯ และได้ร่วมกันติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวในพื้นที่ป่าบนดอย จำนวน 200 ชุด
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย เรามีการทำแปลงนาสาธิต “เปลี่ยนฟางข้าวเป็นทองไม่ต้องเผานา” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ณ แปลงนาสาธิตปทุมธานี โดยมีนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน โดยที่ชาวนาไม่ต้องเผาฟางเพื่อจะเร่งเตรียมแปลงนาเพื่อปลูกต่อ แต่สามารถใช้จุลินทรีย์ดีในฟางและตอซังกลับลงดิน ด้วยต้นทุนเพียงไม่เกินไร่ละ 100 บาท และคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 877 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นการใช้นวัตกรรมสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล และสามารถลดฝุ่น PM 2.5 จากการเผานาได้
ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งจะเร่งผลักดันให้เข้าสู่สภาให้ได้ภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ รัฐบาลเดินหน้าการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ทั้งในฐานะฝ่ายบริหาร ควบคู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพื่อทวงคืนอากาศบริสุทธิ์อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย