เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทยเรียกร้องให้ นายก รมต.ตรวจสอบ กยศ.เบิกจ่ายเงินกู้ยืมของ นศ.ล่าช้านานร่วม 9 เดือน
28 ธ.ค. 2566, 05:07
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ได้กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มนักศึกษาพยาบาลของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของ จ.ศรีสะเกษ ได้พากันร่ำไห้เข้าไปยื่นหนังสือกับ ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม จ.ศรีสะเกษ เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ยืมจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หลังจากที่ได้ยื่นเรื่องขอกู้เงินไปนานร่วม 9 เดือนแล้ว โดยเอกสารหลักฐานถูกต้อง แต่ว่ายังไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจของ กยศ.แต่อย่างใด ทำให้ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่มีเงินค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพและไม่มีค่าเทอม โดยนักศึกษาพยาบาลได้ไปยื่นเรื่องร้องทุกข์กับ รมว.คลัง ที่กระทรวงการคลัง กรุงเทพฯ เพื่อขอให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พิจารณาให้การช่วยเหลือโดยด่วน ล่าสุด ได้มีผู้บริหารระดับสูงของ กยศ.ลงมาพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้นั้น
นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวว่า การที่นักศึกษาพยาบาล รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ ได้ขอกู้เงินจาก กยศ.นั้น เนื่องจากว่าเป็นนักเรียน นักศึกษาที่มีฐานะยากจน จึงต้องมาขอกู้เงิน กยศ.เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งหากว่าได้ส่งเรื่องกู้เงินผ่านระบบของ กยศ.แล้ว หากว่าการอนุมัติล่าช้ากว่าที่น่าจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาต้องรอการอนุมัตินานถึงร่วม 9 เดือน ตนเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ไม่น่าจะถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของ กยศ.เพราะว่า เด็กนักศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาพยาบาลที่เป็นสาขาวิชาขาดแคลน จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในการศึกษาเล่าเรียนเป็นอย่างมาก หากทาง กยศ.พิจารณาอนุมัติเงินล่าช้านานร่วม 9 เดือน ย่อมต้องทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองของนักศึกษาต้องดิ้นรนไปหากู้เงินนอกระบบ เพื่อนำเอามาเป็นค่าใช้จ่ายให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ ซึ่งเป็นการกดดันผลักไสไล่ส่งให้พ่อแม่ของนักศึกษาไปหาแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งขณะนี้ในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศมีผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษาต้องไปกู้เงินนอกระบบมาให้ลูกหลานเรียนหนังสือเป็นจำนวนมาก
นายวิสัย เขตสกุล กล่าวต่อไปว่า จากกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นการไม่สอดคล้องกับนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่ต้องการแก้ไขปัญหาเงินกู้นอกระบบทั่วประเทศเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่มีคำกล่าวที่สวยหรูเอาไว้ว่า เด็กทุกคนที่อยากเรียน ต้องได้เรียน แต่ว่าเด็กไม่มีเงินค่าใช้จ่ายในการเรียน ทำให้ต้องไปกู้เงินจาก กยศ. แต่ว่าทาง กยศ.อนุมัติเงินกู้ล่าช้า ทำให้พ่อแม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบมากขึ้นนั้น ตนเห็นว่าไม่เป็นผลดีแก่นักศึกษาซึ่งเป็นอนาคตของชาติเป็นอย่างมาก ซึ่งตนไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดนักเรียน นักศึกษาที่ส่งเอกสารขอกู้เงินครบถ้วนถูกต้องแล้ว แต่ว่าไม่ได้รับการอนุมัติ และหากว่าผู้ขอกู้รายใดที่เอกสารหลักฐานไม่ถูกต้อง ทาง กยศ.ก็จะต้องส่งเรื่องไปหาผู้ขอกู้ เพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยให้เวลาเนิ่นนานร่วม 9 เดือนเช่นนี้ อีกทั้งจากการที่ตนได้ติดตามข่าวของ กยศ.ทราบว่า ทาง กยศ.ได้มีการส่งเรื่องเกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งมีการเปิดสอนออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ไปให้กระทรวงว่าการอุดมศึกษา ได้มีการตรวจสอบว่ามีการดำเนินการถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ อย่างไรนั้น ตนเห็นว่าเรื่องนี้ ตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 หมวด 1 การจัดตั้งกองทุน มาตรา 6 ได้ระบุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้ เช่น (1) เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ (2) เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักฯ (3) เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนฯ และ (4) เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ ซึ่งไม่มีข้อไหนที่เป็นวัตถุประสงค์ว่า ให้ กยศ.เข้าไปเกี่ยวข้อง ตรวจสอบเกี่ยวกับการสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศแต่อย่างใด
นายวิสัย ยังกล่าวด้วยว่า การที่ กยศ.ได้ส่งเรื่องการเรียนออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไปให้ อว.ตรวจสอบความถูกต้องนั้น ตนเห็นว่า กยศ.เล่นนอกบทที่อยากให้ความสำคัญในตำแหน่งตนที่ดำรงอยู่มีอำนาจในการนี้ เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ในการจัดการศึกษาให้กับประชาชนทั่วไปอย่างเสมอภาคเท่าเทียม และได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้เปิดทำการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชาเอก ซึ่งการสอนออนไลน์ 100% ในประเด็นนี้ถือว่าเป็นนวัตกรรมกระบวนการเรียนการสอนที่ทันต่อศตวรรษที่ 21 อยู่ที่ไหนก็เรียนได้หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทุกสถานศึกษาก็มีการเปิดสอนออนไลน์อยู่แล้ว ดังนั้น ตนในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ กยศ.โดยตรง ขอให้ตรวจสอบการทำงานของ กยศ.ว่า เป็นไปตามบทบาทหน้าที่วัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือไม่ อีกทั้งการที่อนุมัติเงินกู้ให้นักศึกษาพยาบาลและนักศึกษาวิชาต่างๆ นานร่วม 9 เดือนนั้น เป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือไม่อย่างไร หากพบว่า มีการดำเนินการผิดต่อบทบาทหน้าที่ระเบียบของกองทุน ก็ขอให้พิจารณาดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับนักเรียน นักศึกษาของประเทศไทยที่มีฐานะยากจนและอยากเรียนหนังสือจะได้ไม่ต้องได้รับความเดือดร้อนจากการอนุมัติเงินกู้ล่าช้าของ กยศ.อีกต่อไป