ชาวบ้านพบ "โครงกระดูกมนุษษย์" อายุกว่า 3 พันปีที่เขาถ้ำแรด
17 ต.ค. 2562, 17:10
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ในบริเวณเขาถ้ำแรด หมู่ 1 บ้านในเขา ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นายอภิรัฐ เจ๊ะเหล่า นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักงานศิลปากรที่ 11 สงขลา พร้อมด้วย นางสาวมณฑา ทองขาว นายก อบต.ปากแจ่ม นายบัณฑิต สงเพชร กำนัน ต.ปากแจ่ม นายสมคิด นาเลื่อน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านในเขา และชาวบ้านในพื้นที่กว่า 100 คน เดินทางมาสำรวจ ตรวจสอบ กระดูกมนุษย์ที่ชาวบ้านพบในถ้ำ ที่คาดว่าจะเป็นกระดูกมนุษย์ที่มีอายุหลายพันปี พร้อมทั้งยังพบเครื่องปั้นดินเผา เป็นหม้อ และขวานหินขัดอีกด้วย
โดยที่บริเวณที่พบกระดูก หม้อ และขวานหินขัด อยู่ภายในชะง่อนเพิงผา มีลักษณะเป็นวงรี สูงจากพื้นถ้ำประมาณ 6 เมตร บริเวณปากถ้ำกว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 2 เมตร ภายในเป็นโพรงกว้างลึกประมาณ 4 เมตร และเป็นถ้ำเล็กๆ ไม่สามารถยืนได้ พบกระดูกมนุษย์วางกระจัดกระจาย ใกล้ๆ มีเครื่องปั้นหม้อโบราณ เบื้องต้น นายอภิรัฐ พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้ทำการตรวจสอบสันนิษฐานว่า อยู่ในยุคหินใหม่ มีอายุประมาณ 3,000-4,000 ปี นอกจากนี้ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้เข้าสำรวจปากถ้ำอีกด้าน พบเครื่องปั้นดินเผาหม้อโบราณอีก 3 ใบ วางเรียงกันจากการสำรวจเบื้องต้นมีอายุใกล้เคียงกัน และภายในถ้ำด้านในยังพบว่า มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย
นายเจริญ เอียดสี อายุ 60 ปี บ้านเลขที่ 2/2 หมู่ 3 บ้านคลองคุ้ย ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งเป็นคนพบกระดูก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ตนได้เดินทามยังถ้ำเขาแรด เพื่อตกแต่งเป็นสถานที่ทำบุญ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านใช้พื้นที่ดังกล่าวมาก่อนแล้ว และตรงจุดที่พบกระดูกนั้นตนได้นำต้นว่านหางช้างขึ้นไปปลูกตรงบริเวณชะง้อนเพิงผา ปรากฏว่า ภายในมีโพรงถ้ำ เมื่อใช้ไฟส่องจากโทรศัพท์มือถือ ได้เห็นกระดูก และหม้อดิน จึงแจ้งไปยังผู้ใหญ่บ้านดำเนินการและเจ้าหน้าที่สำนักงานศิลปากรที่ 11 สงขลา ลงมาพิสูจน์พบว่า เป็นกระดูกของมนุษย์ที่มีอายุกว่า 3 พันปี ทำให้ตนรู้สึกตื่นเต้นมาก
ขณะที่ นายสมคิดน าเลื่อน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 กล่าวว่า หมู่บ้านในขา ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ทางกรมป่าไม้อนุมัติให้เป็นป่าชุมชน จึงได้มีการจัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ดูแลศึกษาเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กว่า 372 ไร่ โดยที่ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกป่าชุมชนอยากได้ที่พักผ่อนหย่อนใจ จึงมีการจัดทำโครงการคืนธรรมชาติให้ผืนป่า ด้วยการนำต้นมามาปลูกเพิ่มเติม ล่าสุดชาวบ้านได้มีการนำเอาว่านหางเช้าไปปลูกบริเวณชะง่อนเพิงผา บังเอิญเมื่อเข้าไปปรากฏว่า มีถ้ำอยู่ด้านใน และได้ใช้ไฟส่องดูปรากฏว่า เจอโครงกระดูก และมาแจ้งตนให้ขึ้นมาดู
ตนจึงประสานไปยังสำนักงานศิลปากรที่ 11 สงขลา ลงมาสำรวจ พร้อมทั้งแจ้งหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อำเภอ ตำรวจ ลงมาดูและเป็นสักขีพยาน จากการตรวจสอบพบว่าภายในถ้ำมีโครงกระดูก หม้อ ขวาน และก้อนหินคล้ายลูกปัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ศิลปากรได้เก็บและนำไปศึกษาต่อไป โดยทางสำนักงานศิลปากรที่ 11 สงขลา จะได้ศึกษาว่าโครงกระดูกที่พบอยู่ในสมัยไหนย้อนหลังไปกี่พันปี ในส่วนของพื้นที่จะมีการจัดเวรยาเฝ้าระวังเพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปทำลาย อยากให้คงอยู่ในสภาพเดิม เพื่อประกาศเป็นแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุต่อไป
ด้าน นายอภิรัฐ เจ๊ะเหล่า นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักงานศิลปากรที่ 11 สงขลา กล่าวว่า จากการลงมาพื้นที่สำรวจ นอกจากพบเครื่องปั้นดินเผาแล้ว ยังพบกระดูก ขวานหินขัด และหินต่างพื้นที่ ซึ่งจากการตรวจสอบมั่นใจว่าเป็นกระดูกของมนุษย์ เจอทั้งกระดูกนิ้ว ท่อนแขน ท่อนขา ที่ยังค่อนข้างสมบูรณ์ การที่พบกระดูกในถ้ำขนาดเล็กสันนิษฐานได้ว่าเป็นถ้ำที่ใช้ในจัดทำพิธีกรรมฝังศพ ไม่ใช่ถ้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยที่จะต้องมีขนาดใหญ่ แต่เป็นถ้ำที่ใช้ในการฝังศพ ซึ่งของที่พบทั้งหม้อและขวานหินขัดเป็นสิ่งที่อุทิศให้กับผู้ตาย
ลักษณะกระดูกที่พบมีขนาดใหญ่คิดว่า เป็นกระดูกของผู้ชาย ลักษณะกระดูกไม่ได้วางนอนตามแนว แต่กระจัดกระจายโดยสภาพยังไม่ถูกรบกวนมาก่อน และลักษณะกระดูกที่พบไม่ได้มีการวางยาวทั้งพวง สันนิษฐานว่าเป็นการฝังศพในสมัยโบราณโดยการฝังด้านล่างก่อน เมื่อเน่าเปื่อยแล้วค่อนกระดูกมาเก็บไว้ถ้ำ ซึ่งอายุจากการดูจากขวานหินขัด และเศษวัสดุดินเผา เป็นยุคสมัยหินใหม่ อายุ 3-4 พันปีมาแล้ว ต่อไปจะเก็บตัวอย่างกระดูกกับเศษเครื่องปั้นดินเผา และขวานหินขัด ไปวิเคราะห์เพิ่มเติม จากนั้นจะรายงานมายังชุมชนว่าจะมีแผนอนุรักษ์พื้นที่นี่ต่อไปอย่างไร
รายงานข่าวแจ้งว่า บริเวณเขาถ้ำแรด หมู่ 1 บ้านในเขา ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ได้มีนายทุนดำเนินการของอนุญาตสัมปทานระเบิดหิน แต่ทางผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และชาวบ้านไม่เห็นด้วย มีการคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าทางราชการได้ประกาศเป็นพื้นที่แหล่งหินแล้วก็ตาม แต่ชาวบ้านยังคงปักหลักคัดค้านไม่ให้มีการระเบิดหินเขาถ้ำแรด เนื่องจากเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ หากมีการให้สัมปทานระเบิดหินจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างหนัก