มหาดไทย Kick-Off ขับเคลื่อนธนาคารขยะ ร่วมกับ อปท. 7,773 แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้า 60 วัน ทุก อปท. ต้องมีธนาคารขยะอย่างน้อย 1 แห่ง
3 ม.ค. 2567, 13:19
วันนี้ (3 ม.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในวันนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,773 แห่ง ได้เริ่ม Kick-Off การขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) พร้อมกันทั่วประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องของกระทรวงมหาดไทย ในการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดการขยะมูลฝอยโดยดำเนินการตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดให้มีระบบจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ ซึ่งที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการดำเนินการคัดแยกขยะรีไซเคิลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเลิศ (Best Practice) ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู จังหวัดลพบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลผาสามยอด จังหวัดเลย องค์การบริหารส่วนตำบลหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และเทศบาลตำบลหนองล่อง จังหวัดลำพูน ตั้งแต่วันที่ 5 - 17 ตุลาคม 2566 เพื่อถอดบทเรียน จัดทำแผนงานและแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) โดยมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เกี่ยวกับการดำเนินการศึกษาจัดทำแผนงานและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการดำเนินงานตามคู่มือโครงการศึกษาจัดทำแผนงานและแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนี้ เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนได้มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยภายใต้หลักการ 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พร้อมทั้งรณรงค์สร้างความรับรู้ความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนในทุกพื้นที่มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือไปขาย เพื่อให้มีรายได้สู่ชุมชน และพัฒนาสู่การจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและรับซื้อขยะรีไซเคิลจากประชาชน อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนและนำรายได้ไปจัดสวัสดิการสังคมในรูปแบบต่าง ๆ
.
"สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะในระดับพื้นที่ ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนในระดับจังหวัด โดยคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลมูลฝอยระดับจังหวัด ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีธนาคารขยะอย่างน้อยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 1 แห่ง ซึ่งจะต้องมีการประชุมซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ในระดับจังหวัด) ให้สอดคล้องกับคู่มือแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัด ให้คำแนะนำและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งจัดตั้งธนาคารขยะ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากวันนี้ที่มีการ Kick-Off รวมทั้งมีการจัดทำพื้นที่ต้นแบบ (พี่เลี้ยง) ของธนาคารขยะ และขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัด โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งคณะกรรมการธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานธนาคารขยะประจำชุมชน/หมู่บ้าน พร้อมทั้งสนับสนุนผลักดันให้อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ทุกครัวเรือน เข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารขยะของชุมชน/หมู่บ้าน พร้อมทั้งรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในจังหวัดทราบถึงประโยชน์ของการคัดแยกขยะรีไซเคิล สร้างองค์ความรู้ในการดำเนินโครงการธนาคารขยะ ให้ทราบถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการธนาคารขยะ ผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายศึกษาวิเคราะห์แนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามคู่มือแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด พร้อมทั้งติดตาม และรายงานผลการขับเคลื่อนโครงการให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกเดือน 2) การขับเคลื่อนในระดับอำเภอ ให้คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยในระดับอำเภอ จัดประชุมซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะในระดับอำเภอ โดยนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ ให้คำแนะนำ สนับสนุน และร่วมดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง มีธนาคารขยะของชุมชน/หมู่บ้าน โดยใช้กลไกคณะกรรมการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยระดับอำเภอ สนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานโดยใช้อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ร่วมกันประสานงานและขับเคลื่อนธนาคารขยะในระดับชุมชน/หมู่บ้าน ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานธนาคารขยะประจำชุมชน/หมู่บ้าน ในการจัดทำข้อบังคับธนาคารขยะ ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานธนาคารขยะและการเปิดรับสมาชิก พร้อมทั้งการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนนโยบาย รวบรวมปัญหา อุปสรรค ผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการขับเคลื่อนนโยบายฯ ให้จังหวัดทราบ และ 3) การขับเคลื่อนในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีการเตรียมความพร้อมสำรวจข้อมูลขยะมูลฝอยระดับครัวเรือน การจัดการขยะมูลฝอย ได้แก่ การคัดแยกขยะมูลฝอย การรีไซเคิลขยะในระดับครัวเรือน ผู้ประกอบการรับซื้อขยะรีไซเคิลในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูล มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นการดำเนินงานธนาคารขยะในชุมชน/หมู่บ้าน พร้อมทั้งจัดทำธรรมนูญชุมชน/หมู่บ้าน/ตำบล เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการคัดแยกขยะมูลฝอยครัวเรือน และจัดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารธนาคารขยะ คณะกรรมการธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน และคณะทำงานธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนนั้น จังหวัดจะเป็นหน่วยงานรวบรวมและบันทึกในแบบรายงานของจังหวัด เพื่อให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทราบ โดยมีระยะเวลาดำเนินงานติดตามและรายงานผล คือ 1) วันที่ 22 มกราคม 2567 เป็นการเตรียมความพร้อมในการมีฐานข้อมูลขยะมูลฝอยระดับครัวเรือน (การจัดการขยะมูลฝอย การคัดแยกขยะมูลฝอย ผู้ประกอบการรับซื้อขยะรีไซเคิลในพื้นที่) พร้อมทั้งมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นการดำเนินงานธนาคารขยะในพื้นที่ และมีการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารธนาคารขยะ และประกาศจัดตั้งคณะทำงานธนาคารขยะในระดับชุมชน/หมู่บ้าน 2) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 จะมีการจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน มีหน้าที่ในการประชุมและการสำรวจผู้ประกอบการรับซื้อในชุมชน ราคา ประเภทของขยะรีไซเคิลที่รับซื้อ ประสานงานผู้รับซื้อให้เข้าร่วมธนาคารขยะในราคา ระยะเวลา และสถานที่ที่เพียงพอต่อปริมาณขยะที่เข้ารับซื้อตามความเหมาะสม มีการจัดทำระเบียบ/ข้อบังคับธนาคารขยะ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกระเบียบ หลักเกณฑ์ และอำนาจในการบริหาร คณะทำงานฯ และฝ่ายต่าง ๆ เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงาน เช่น การรับสมัคร การรับซื้อขยะ การประชาสัมพันธ์ การทำบัญชี พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเพื่อสร้างการรับรู้การดำเนินงานธนาคารขยะกับชุมชน โดยจัดตั้งทีมปฏิบัติการร่วมกับอาสาสมัคร ท้องถิ่นรักษ์โลก เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและความน่าสนใจของการเป็นสมาชิกธนาคารขยะ และ 3) วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 จะเป็นวันแห่งการขับเคลื่อนโครงการฯ ซึ่งจะมีการเปิดรับสมาชิกธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน โดยกําหนดวันเวลา และสถานที่ในการรับสมัคร ที่เหมาะสม และประชาสัมพันธ์การรับสมัครให้ประชาชนในท้องถิ่นทราบ พร้อมทั้งมีการประชุมทำความเข้าใจ สร้างองค์ความรู้ในการคัดแยกขยะรีไซเคิล ขยะที่ขายได้-ขายไม่ได้ และแจ้งกำหนดการในการรับซื้อขยะรีไซเคิลให้สมาชิกได้รับทราบ
“ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ร่วมแรง ร่วมใจกัน ระดมสรรพกำลังสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม Change for Good ทำให้เกิดธนาคารขยะในทุกพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยกันหนุนเสริมขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ มีการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมรับประโยชน์ ตาม 4 กระบวนการของแนวทางการทำงานโครงการในพระราชดำริกว่า 5,151 โครงการ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขอให้ทุกท่านได้ช่วยกัน Action Now แล้วเราจะมีความสุขในการทำให้เกิดทำให้มีสิ่งที่ดีในแผ่นดินไทย ในพื้นที่ชุมชนของพวกเรา เพื่อโลกใบเดียวนี้ของเราทุกคน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย