เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เลขาธิการครูแห่งประเทศไทยถามนายก รมต.และ รมว.คลังว่า กยศ.มีหน้าที่ตรวจสอบการจัดการสอนของสถานศึกษาที่นักศึกษาขอกู้เงินหรือไม่


8 ม.ค. 2567, 15:46



เลขาธิการครูแห่งประเทศไทยถามนายก รมต.และ รมว.คลังว่า กยศ.มีหน้าที่ตรวจสอบการจัดการสอนของสถานศึกษาที่นักศึกษาขอกู้เงินหรือไม่




เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ  นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ได้กล่าวถึงกรณีที่นักศึกษาพยาบาลของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของ จ.ศรีสะเกษ ได้ออกมาร้องทุกข์ต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เร่งอนุมัติเงินกู้ยืมเรียน เนื่องจาก ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีเงินค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพและไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมนาน 2 เทอมแล้ว  โดยมีนักศึกษาที่คุณสมบัติครบถ้วนที่ยังไม่ได้รับเงิน จำนวน 2,178 ราย  ซึ่งทาง ผจก.กยศ.ได้ออกข่าวประสัมพันธ์ว่า ได้อนุมัติเงินกู้ให้กับนักศึกษาที่ขอกู้เงินและเอกสารครบถ้วนถูกต้องไปหมดแล้ว แต่ปรากฏว่า นักศึกษา จำนวน 2,178 ราย ยังไม่ได้รับเงินกู้แต่อย่างใด  ล่าสุด  ผจก.กยศ.ได้ออกมาชี้แจงให้ข่าวต่อสื่อมวลชนว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง จำนวน 2,178 ราย ที่ขอกู้เงินและยังไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้นั้น เนื่องจากว่า ขาดคุณสมบัติ เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งว่า สถาบันมีการจัดการเรียนการสอนจริงหรือไม่นั้น

นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวว่า เรื่องนี้จากการที่ตนได้ตรวจสอบพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 แล้วว่า ปรากฏว่า ไม่พบว่า มีพระราชบัญญัติข้อใดที่ระบุว่า ให้ ผจก.กยศ.มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะไปทำการตรวจสอบว่า สถาบันการศึกษาใดมีการจัดการเรียนการสอนจริงหรือไม่ ตนพยายามดูอย่างละเอียดแล้วก็ไม่พบว่า มีการระบุเรื่องนี้เอาไว้  หรือหากว่ามีการระบุเอาไว้ก็ขอให้ทาง ผจก.กยศ.เอามาเผยแพร่ให้ได้รับทราบโดยทั่วกันด้วย  ซึ่งการที่ ผจก.กยศ.จะลงไปตรวจสอบสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาขอกู้เงินนั้น ตนเห็นว่า หากมีการระบุอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเอาไว้ ผจก.กยศ.ก็ควรที่จะต้องไปตรวจสอบสถานศึกษาทุกแห่งที่มีนักศึกษาไปขอกู้เงินจาก กยศ. ไม่ใช่ว่า เลือกที่จะไปตรวจสอบเฉพาะมหาวิทยาลัยชื่อดังบางแห่งที่นักศึกษาพยาบาลได้รับความเดือดร้อนเพราะว่าไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ กยศ.จึงได้ไปร้องทุกข์กับศูนย์ดำรงธรรม จ.ศรีสะเกษและร้องทุกข์กับ รมว.คลัง เพื่อขอให้ช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว

 



นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวต่อไปว่า ตนเห็นว่าเรื่องนี้ผจก.กยศ.ไม่ได้มีหน้าที่ในการควบคุมกำกับมหาวิทยาลัย เนื่องจากการควบคุมการจัดการเรียนการสอนเป็นหน้าที่ของกระทรวงว่าการอุดมศึกษา (อว.) ซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคลจะขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัย  การที่ทาง กยศ.จะลงมาตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยว่า มีการจัดการเรียนการสอนจริงหรือไม่นั้น ตนเห็นว่า เป็นลักษณะการปฏิบัติที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย เพราะว่า เป็นการเลือกปฏิบัติค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากว่าหากจะมีการตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาทุกแห่งมีนักศึกษาขอกู้เงินจาก กยศ. จะต้องระบุเอาไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560  ระบุอำนาจหน้าที่ของ กยศ. ว่าจะต้องทำการตรวจสอบสถานศึกษาทุกแห่งที่มีนักศึกษาขอกู้เงินจาก กยศ.จึงน่าจะถูกต้อง  ซึ่งการที่ กยศ.จะลงตรวจสอบสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาพยาบาลไปร้องทุกข์กับ รมว.คลังว่า ยื่นขอกู้เงิน กยศ.ไปนานกว่า 9 เดือนแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนนั้น  ตนเห็นว่า  สถาบันการศึกษาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่ว่าทาง ผจก.กยศ.และคณะจะลงมาตรวจสอบสถาบันการศึกษาที่นักศึกษาเรียนอยู่และได้ร้องทุกข์เพราะว่ายังไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ยืมเรียน ประชาชนชาวไทยทุกคนทั่วประเทศที่ทราบข่าวนี้ จะเกิดความแปลกแยกทางความคิดทันทีว่า กยศ.คิดอย่างไรจึงจะมาทำการตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาพยาบาลไปร้องทุกข์เพราะไม่ได้รับเงินกู้ว่ามีการจัดการเรียนการสอนจริงหรือไม่

นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวต่อไปว่า ตนเห็นว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดมีขึ้นมาเลย หากว่า กยศ.เร่งพัฒนางานของตนเองในการพิจารณาเร่งรัดอนุมัติเงินกู้เป็นค่าดำรงชีพและค่าเทอมให้กับนักศึกษาที่ขอกู้เงิน ไม่ใช่ปล่อยให้เวลาผ่านไปนานร่วม 9 เดือน นักศึกษาทุกคนต้องกินต้องใช้เงินค่าเทอมในการเรียนหนังสือ พอเป็นข่าวทางสื่อมวลชนจึงออกมาเร่งรัดอนุมัติเงินกู้ให้นักศึกษา แล้วเวลาที่ผ่านไปนานร่วม 9 เดือนตามที่เป็นข่าวนั้น กยศ.ทำอะไรอยู่จึงไม่เร่งดำเนินการอนุมัติเงินกู้ยืมให้กับนักศึกษา ทำให้นักศึกษาทนไม่ได้ต้องมาร้องทุกข์เรื่องนี้  ตนในฐานะ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ขอฝากถามเรื่องนี้ไปถึง นายเศรษฐา   ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังว่า  กยศ.มีหน้าที่ตรวจสอบการจัดการสอนของสถานศึกษาที่นักศึกษาขอกู้เงินหรือไม่ เนื่องจากการขอกู้เงินเป็นเรื่องของนักศึกษาและ กยศ.เท่านั้น และขอให้ได้เข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของ กยศ.ด้วยว่า เพราะเหตุอะไรติดขัดตรงไหนบริหารงานอย่างไรจึงอนุมัติเงินกู้ยืมเรียนให้นักศึกษาล่าช้า ทำให้นักศึกษาจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้

 







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.