ชมภายใน สวนสัตว์ร้างที่โคราช อีกหนึ่งโครงการใหญ่ ที่ถูกยกเลิกไป อย่างน่าเสียดาย
18 ต.ค. 2562, 13:16
ย้อนอดีตโครงการสวนสัตว์เปิดหนองเต็ง-จักราช อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองเต็ง-จักราช เพื่อเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๖ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมัยที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายให้ทดลองจัดตั้ง “ซาฟารี(SAFARI)” บนพื้นที่ป่าเต็งรัง เพื่อหวังให้เป็นตัวอย่างการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าในรูปแบบของ City park และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนของประชาชน นักท่องเที่ยวในลักษณะสวนสัตว์เปิดบนพื้นที่ ๔๐,๙๑๔ ไร่ ด้วยมูลค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๔๐,๙๒๑,๖๐๕ บาท
แผนที่จะก่อสร้างสวนสัตว์เปิดหนองเต็ง-จักราช จ.นครราชสีมา ถือว่าเป็นโครงการพัฒนาต่อเนื่องจากโครงการไนท์ซาฟารีที่จ.เชียงใหม่ โดยจะใช้พื้นที่กว่า ๔ หมื่นไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองเต็ง-จักราช อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ในการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งจะกลายเป็นสวนสัตว์เปิดที่มีขนาดใหญ่
ขณะนั้น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และเป็นส.ส.นครราชสีมา จึงเล็งเห็นความสำคัญและผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวแล้ว พื้นที่โครงการฯ ก็อยู่ติดกับสนามบินนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง ที่น้าชาติ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ก่อตั้งพรรคชาติพัฒนา เป็นผู้ริเริ่มให้ก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาสนามบินพาณิชย์แห่งนี้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวชม จึงเป็นศักยภาพที่สำคัญในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว และจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้ใช้งบประมาณเหลือจ่ายของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปี ๒๕๔๖ จำนวน ๓๑,๓๗๐,๐๐๐ บาท ซึ่งได้ดำเนินงานไปแล้วบางส่วน เช่น ก่อสร้างรั้วรอบพื้นที่ได้ ๑๘.๒๕ กิโลเมตร, สร้างอ่างเก็บน้ำ ๒ แห่ง, สำรวจแหล่งน้ำบาดาล ๕ แห่ง และศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ วางผัง ออกแบบอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น แต่มีปัญหาการขาดงบประมาณที่จะดำเนินการต่อให้เสร็จทั้งโครงการอีกจำนวน ๑๐๙,๕๕๑,๖๐๕ บาท
แต่หลังจากที่รองนายกฯ สุวัจน์ มีการพยายามผลักดันงบประมาณก่อสร้างส่วนที่เหลือ มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขณะนั้น ในสมัยรัฐบาล “ทักษิณ” จึงอนุมัติงบประมาณกลางของปี ๒๕๔๘ จำนวน ๑๐๙ ล้านบาท ให้องค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อก่อสร้างส่วนที่เหลือให้เสร็จสมบูรณ์ แต่โครงการนี้ก็เงียบหายไป เนื่องจากเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทั้งที่หลายคนตั้งความหวังว่า หากสร้างเสร็จโครงการนี้จะมีประโยชน์มาก และถือเป็นสุดยอดไนท์ซาฟารีที่ยิ่งใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศหรือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้ ด้วยพื้นที่มากถึง ๔ หมื่นไร่ เมื่อเทียบกับไนท์ซาฟารีที่เชียงใหม่ที่มีพื้นที่แค่ ๖,๐๐๐ ไร่เท่านั้น
เนื่องจาก “สุวัจน์” วางแนวทางและความฝันของเมืองโคราชไว้อย่างสวยหรู กล่าวคือ มีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติม ประกอบด้วย การก่อสร้างรั้วให้รอบพื้นที่โครงการทั้ง ๔ หมื่นไร่ เพิ่มอีกเป็นระยะทาง ๓๐.๒๓ กิโลเมตร, จัดสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้าง จัดภูมิทัศน์ , ปรับปรุงถนนภายในโครงการ, จัดสร้างปรับปรุงแหล่งน้ำ, การปลูกสร้างแปลงหญ้าพืชอาหารสัตว์ และการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าพื้นที่ ซึ่งในส่วนของสัตว์ป่าจะร่วมมือทางวิชาการกับประเทศเคนยาที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้มาดูแลอย่างใกล้ชิด โดยภาพรวมการจัดทำรั้วรอบพื้นที่ทั้งโครงการ เพื่อปล่อยสัตว์ป่าไว้ภายในแล้วให้ประชาชน หรือ นักท่องเที่ยวขับรถยนต์เข้าเที่ยวชมสัตว์ได้อย่างใกล้ชิด คล้ายกับทุ่งหญ้าสะวันนาซาฟารี และจัดทำอ่างเก็บน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า พร้อมจัดสร้างแหล่งอาหารสัตว์ เช่น ทุ่งหญ้า ปลูกพืชอาหารสัตว์ ศูนย์ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เป็นต้น
ที่สำคัญจะจัดเขตพื้นที่บริการสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว เช่น ศูนย์บริการ ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหารเครื่องดื่มและห้องน้ำ อาคารพิพิธภัณฑ์ ลานจอดรถ ทางเดินเชื่อมอาคาร ด่านเก็บค่าธรรมเนียม อาคารที่ทำการ โรงจอดรถ โรงเก็บพัสดุ บ้านพักคนงาน ระบบไฟฟ้า ระบบประปา โรงเตรียมอาหารสัตว์ คอกกักสัตว์ โรงอาหารสัตว์ และสถานที่กางเต็นท์พักแรม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะดึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) มาเป็นศูนย์กลางในการวางแผนด้านการตลาด เพราะโครงการนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์แห่งใหม่ของภาคอีสานและประเทศไทย รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางการประชุมเชิงธรรมชาติที่ใกล้ตัวเมืองที่สุด เพราะห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาเพียง ๒๐ กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งหาพื้นที่ที่เหมาะสมเช่นนี้ได้ยากมากในปัจจุบัน
ส่วนสัตว์ป่าที่จะนำมาปล่อยในพื้นที่กว่า ๔ หมื่นไร่ จะเป็นสัตว์ป่าหายากหลายชนิด และบางส่วนนำเข้าจากแถบทวีปแอฟริกา สามารถสนองตอบต่อนักท่องเที่ยวได้ ทั้งด้านความสนุกเพลิดเพลิน การศึกษาหาความรู้และประสบการณ์ชีวิต
อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายจุดที่ควรศึกษา เกี่ยวกับโครงการนี้ อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปิดดำเนินการมาหลายปีแล้วนั้น มีปัญหาสัตว์ป่วย ล้มตายจำนวนไม่น้อย ดังนั้น เนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้มีปัญหาเรื่องงบประมาณในก่อสร้าง จึงควรทบทวนและศึกษาต่อไปว่าจะมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด กับป่าสงวนแห่งชาติแห่งนี้ ที่มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า ๘๐,๐๐๐ ไร่ โดยกว่าครึ่งถูกแบ่งไปทำโครงการดังกล่าวที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและต้องนำเข้าสัตว์ป่าจากต่างประเทศ