ครม.อนุมัติรับรองเอกสารร่างแถลงการณ์ สำหรับการประชุม GFFA ครั้งที่ 16
16 ม.ค. 2567, 15:21
วันนี้ ( 16 ม.ค.67 ) นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (16 มกราคม 2567) มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้มีการรับรองเอกสารร่างแถลงการณ์ (2024 Zero Draft Communique) ในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน (Berlin Agriculture Ministers’ Conference) ครั้งที่ 16 โดยไม่มีการลงนาม ในวันเสาร์ที่ 20 มกราคม 2567 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สาระสำคัญของเอกสารร่างแถลงการณ์ เป็นเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน โดยร่างฯ ดังกล่าวให้ความสำคัญของการดำเนินการใน 4 ด้าน ได้แก่
1. ส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเกษตรและระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นได้ และดำเนินการตามวาระ 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการยุติความหิวโหยด้วยการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ปรับให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อการผลิตทางการเกษตรที่เพียงพอและยั่งยืน ส่งเสริมการเลือกอาหารเพื่อสุขภาพลดการสูญเสียอาหารและของเสียส่งเสริมวิธีการผลิตและพันธุ์พืชที่ยั่งยืน แนวทางการจัดการปศุสัตว์อย่างยั่งยืน การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและเกษตรอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม ดำเนินการให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสื่อมโทรมของดิน การเข้าถึงน้ำที่เพียงพอและมีคุณภาพ เพิ่มความรู้เกษตรกรในการปรับปรุงดินให้มีธาตุอาหารที่สมบูรณ์ ปรับปรุงการจัดการปุ๋ย การผลิตปุ๋ยไนโตรเจนสีเขียว ส่งเสริมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้ยาฆ่าแมลง ส่งเสริมการวิจัยและการลงทุนเพิ่มเติมด้านความยั่งยืนทางการเกษตรและระบบอาหารการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลและนวัตกรรมได้
2 ส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน โดยเพิ่มบทบาทขององค์การการค้าโลก(WTO) ด้านกฎการค้าสินค้าเกษตรเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ระบบการค้าเปิดกว้าง ปลอดภัยและโปร่งใส บทบาทของระบบข้อมูลด้านการตลาดของสินค้าเกษตร (Agricultural Market Information System: AMIS) การดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่ดีและการควบคุมเชิงป้องกันเพื่อต่อสู้กับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหาร โรคสัตว์ โรคและแมลงศัตรูพืช เพิ่มขีดความสามารถของภาครัฐและเอกชนในการป้องกัน เตรียมความพร้อมและควบคุมที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อและการดื้อยาด้านจุลชีพ (AMR) ในมนุษย์และสัตว์ เพื่อเสริมสร้างแนวทางด้านสุขภาพที่เป็นหนึ่งเดียว ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรที่ปราศจากการตัดไม้ทำลาย (deforestation-free) ความสัมพันธ์ทางการตลาดให้มีความเท่าเทียมสำหรับทุกคนในห่วงโซ่ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรขนาดกลาง ตลอดจนเสริมสร้างสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่าตามหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน
3 การลดอาหารเหลือทิ้ง โดยมุ่งที่จะลดการสูญเสียอาหารเหลือทิ้งตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG 12.3 ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่ง ในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคและลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573 การกำหนดเป้าหมาย วัดความสูญเสียอาหารเหลือทิ้ง ขยายการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา การบริจารอาหารที่เหลือ หรืออาหารที่ใกล้หมดอายุ อาทิ นำไปเป็นอาหารสัตว์ ตลอดจนส่งเสริมการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค
4 การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเปราะบาง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท บทบาทของสตรี โดยตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนในการได้รับอาหารที่เพียงพอ ตามแนวทางปฏิบัติโดยสมัครใจของ FAO ว่าด้วยสิทธิในอาหารซี่งรับรองโดยคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) ตลอดจนบทบาทของเกษตรกรรายจ่ายและแรงงานในชนบท การปรับปรุงการเข้าถึงทรัพยากรการผลิต เช่น ที่ดิน น้ำ การเงิน เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และทรัพยากรพันธุกรรม เน้นย้ำในการปกป้องที่ดินของชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งบทบาทของ CFS เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำงานร่วมกันเพื่อรับรองความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ