สำนักงานพาณิชย์ จับมือ สจล.ชุมพร ระดมผู้เชี่ยวชาญ จัดสัมมนา “การวิเคราะห์การทำธุรกิจผลไม้ภาคใต้”
18 ต.ค. 2562, 15:13
วันที่ 18 ตุลาคม 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news ณ ห้องประชุมชุมโค ตึกอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นายสนิท ศรีวิหก รอง ผวจ.ชุมพร เป็นประธานเปิดการสัมมนา “การวิเคราะห์การทำธุรกิจผลไม้ (ทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ) ภาคใต้” โครงการส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรกลุ่มจังหวัดภาคใต้ (ฝังอ่าวไทยและอันดามัน) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนชัย พงษ์นาค รองอธิการบดี สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นายศรีสมทรง พาณิชย์จังหวัดชุมพร อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ องค์กรภาคเอกชน เกษตรกร จากกลุ่มเป้าหมายในภาคใต้ เข้าร่วมสัมมนาจำนวนมาก เพื่อระดมความคิด วิเคราะห์ จุดดี จุดเด่น ปัญหาและเป้าหมายการทำธุรกิจผลไม้ในภาคใต้ทั้งจำหน่ายในประเทศ และส่งออกอย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งผลผลิตผลไม้ชนิดต่างๆ ใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะทุเรียนจำนวน 445,220 ตัน มังคุด 156,118 ตัน เงาะ 69,371 ตัน ลองกอง 72,556 ตัน รวมมูลค่าผลผลิตการส่งออกมากกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี
นายสนิท ศรีวิหก รอง ผวจ.ชุมพร กล่าวว่า โครงการนี้เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทยในการดูแลกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้ประกอบการผลไม้ เราต้องเร่งสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้แข็งแรงขึ้นมาจากการผลิต เกษตรกรปลูกได้ขายได้ เศรษฐกิจต้องแข็งแรง ผลิตแล้วต้องมีตลาด ต้องหาช่องว่างและโอกาสในเชิงธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันและส่งออกได้ โดยมีมหาวิทยาลัยช่วยสร้างหลักสูตรและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้างธุรกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพในท้องถิ่น และจะต้องบูรณาการกันในทุก ๆ ภาคส่วน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในผลกระทบจากผลลัพธ์และผลผลิตของโครงการฯ นั้นจะสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจผลไม้และสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป
นายอุดม ศรีสมทรง พาณิชย์จังหวัดชุมพร กล่าวว่าจังหวัดชุมพร ถือเป็นแหล่งผลิตผลไม้มากที่สุดในภาคใต้ รองจากภาคตะวันออก และเป็นศูนย์รวบรวมผลไม้ของ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อส่งไปยังตลาดปลายทางทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์และลักษณะอากาศที่เหมาะสมในการปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ซึ่งในแต่ละปีมีพ่อค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเปิดแผง โรงบรรจุ จุดรวบรวม ในการรับซื้อผลไม้มากกว่า 200 รายต่อปี สร้างมูลค่ารายได้จากการจำหน่ายผลไม้ประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ยังขาดข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการเชื่อมโยงธุรกิจผลไม้ ที่มาจากแหล่งผลิตในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคใต้ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการสำรวจ รวบรวม ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกิจผลไม้ภาคใต้ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลประกอบ ในการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและประกอบการตัดสินใจทำธุรกิจผลไม้และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการนี้เป็นการจ้างที่ปรึกษาเพื่อสำรวจ รวบรวม ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ธุรกิจผลไม้ภาคใต้ เพื่อยกระดับมาตรฐานผลไม้ให้เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายผลไม้ภาคใต้ โดยมี สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนชัย พงษ์นาค รองอธิการบดี สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นจัดการศึกษาด้านเทคโนโลยี เกษตร อาหาร และพลังงานทางเลือกเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ความมุ่งมั่นดังกล่าวสำเร็จลุล่วงได้นั้นจะต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชน พร้อมขานรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของประเทศไทย