รัฐบาลดัน Soft Power ศิลปะวัฒนธรรม ในงาน Thailand Biennale 2025 ที่ภูเก็ต
22 ม.ค. 2567, 15:33
วันนี้ ( 22 ม.ค.67 ) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลเดินหน้าผลักดัน Soft Power ศิลปะวัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่อง และคัดเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพในการจัด “งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale 2025” มหัศจรรย์แห่งการเดินทาง (The Never Ending Journey) ครั้งที่ 4 อย่างเป็นทางการ โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2018 ครั้งที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2021 และครั้งที่ 3 ที่จังหวัดเชียงราย ในปี 2023 พบว่าทั้งสามครั้งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จและได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี โดยในปี 2025 รัฐบาลมุ่งมั่นยกระดับบทบาทด้านวัฒนธรรมไทยในเวทีโลกผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยไทย พัฒนาสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทยสู่ระดับสากล สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นหมุดหมายสำคัญของการจัดแสดงงานศิลปะนานาชาติระดับโลกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale 2025 จะมีระยะเวลาจัดงาน 5 เดือน ในรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ 4 รูปแบบ ดังนี้
1. การจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปินไทยจาก 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และศิลปินจากกลุ่มอันดามัน
2. การจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปินจากต่างประเทศ
3. Art Festival Event การจัดแสดงนิทรรศการหลักในทุกพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต เน้นย้ำแนวคิดศิลปะมีชีวิต การนำเสนอผลงานศิลปะอย่างชัดเจนและมีเสน่ห์ และการเข้าถึงศิลปะในรูปแบบ Local Touch
4. Public Art Landmarks การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบถาวรตามมุมเมืองต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต โดยภาคเอกชน ภาคธุรกิจ โรงแรมจะมีส่วนร่วมในฐานะผู้ลงทุนและคัดเลือกศิลปินหรือเยาวชนในการสร้างสรรค์ผลงานจากการประกวดวาดแบบชิ้นงานประติมากรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของสังคม
โดยจะมีการแบ่งพื้นที่จัดงานออกเป็น 4 พื้นที่หลัก กระจายออกเป็นพื้นที่ย่อย ได้แก่ อำเภอเมือง 22 พื้นที่ อำเภอถลาง 9 พื้นที่ อำเภอกะทู้ 9 พื้นที่ และพื้นที่บ้านศิลปิน 25 แห่ง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale 2025 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งคาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้กว่า 5 ล้านคน เพิ่มอัตราการจ้างงานให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมศิลปะร่วมสมัยและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การท่องเที่ยว อาหาร สปาและการบริการสุขภาพกว่า 15,000 คน และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืนกว่า 40,000 ล้านบาท
“รัฐบาลมุ่งมั่นขับเคลื่อน Soft Power ด้านศิลปะวัฒนธรรมความเป็นไทยสู่เวทีโลก โดยอาศัยการบูรณาการและร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน พร้อมเน้นย้ำว่า Soft Power จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมไทยสู่นานาชาติ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนพัฒนาทั้งรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยอย่างยั่งยืน ” นายชัย กล่าว