สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 จ.กาญจนบุรี วอนรัฐบาลขยายกรอบเวลายกเลิก 3 สารพิษ
18 ต.ค. 2562, 19:44
วันนี้ (18 ต.ค. 62 ) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า จากกรณีสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 ต.ท่ามะกา อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี โดยนายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมอาทิ นายปารเมศ โพธารากุล นายสายชล ตันมันทอง นายเสกสรร จงวัฒนาไพศาล นายนราธิป อนันตสุข ผู้จัดการสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 ประชุมหารือกรณีที่จะมีการยื่นหนังสือให้กับ นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 62 ที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งเรื่องถึงรัฐบาลให้ประกันราคาอ้อย 1,000 บาทต่อตัน
ทั้งนี้ นายนราธิป อนันตสุข ผู้จัดการสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนถึงผลกระทบที่มีต่อชาวไร่อ้อย กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เซ็นอนุมัติยกเลิกสาร 3 ชนิดประกอบด้วย พาราควอต , ไกลไฟเซต, และ คลอร์ไพรีฟอส ว่าการที่กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายยกเลิกใช้สารทั้งสามชนิดนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเราก็ได้หารือกันในระดับของชาวไร่อ้อยทั้งประเทศแล้ว และได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้วว่าชาวไร่อ้อยได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับชาวไร่อ้อย สำหรับสารคือเราใช้เป็นหลักมีสองอย่าง เช่น ใช้สำหรับการฆ่าหญ้า ฆ่าวัชพืช
การที่เราจะไปหาแรงงานก็ไม่ได้ หรือไปใช้เครื่องจักรแทนก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุน เพราะมันเป็นปัจจุบันทันด่วน ซึ่งทางออกได้เรียนไปในลักษณะที่ว่า กรณีที่จะยกเลิกสารมีกรอบระยะเวลาให้กับเกษตรกรในการเตรียมตัว อีกประการหนึ่งต้องมีสารตัวใหม่เข้ามาทดแทน ในราคาที่ต้นทุนต่ำกว่า และมีคุณภาพถ้าเทียบกับสารที่จะทำการยกเลิก นี่เป็นหลักการที่เราได้หารือกัน
ซึ่งเราคงจะมีหนังสือเรียนไปยังหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องให้ทราบถึงปัญหาของของเรา ในเรื่ิองการยกเลิกสารทั้งสามชนิด และที่สำคัญที่สุดต้องเรียนว่าเรื่องอ้อยการใช้สารที่ใช้ฆ่าหญ้ากับวัชพืช อ้อยเราเก็บเกี่ยว 1 ปี และอ้อยไม่ได้กินเป็นอ้อยสด เพราะเรานำไปผลิตน้ำตาลเป็นหลัก ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการปลูกพืชผักที่ต้องกินโดยตรง การบริโภคโดยตรงอาจจะมองว่าอันรายกว่า สำหรับการใช้สารเรา เราใช้เฉพาะช่วงการปลูกอ้อยเท่านั้น หลังจากนั้นมันก็จะไม่มีตกค้างอีกแล้ว แต่สามารถทำให้ต้นอ้อยหน่ออ้อยที่มีวัชพืชที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญเติบโตของอ้อยนั้นลดลงไปเป็นต้น
ซึ่งเชิงนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้วได้ทำเอาไว้ดีอยู่แล้ว ส่วนสารตัวอื่นที่จะนำมาทดแทนนั้นเรายอมรับว่ายังมองไม่เห็น หรืออาจจะมีแต่ว่าราคาแพง ในสภาวะผลผลิตที่ตกต่ำ สารตัวใหม่ถ้ามีเราก็ไม่รู้ว่าประสิทธิภาพของมันจะดีเท่ากับสารตัวเดิมหรือเปล่า
นโยบายเดิมซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เองด้วยซ้ำ ที่เคยปฏิบัติอยู่ก่อนหน้านั้นก็คือพยายามควบคุมการใช้ทั้งผู้ซื้อ ผู้ใช้ และผู้ขาย เป็นต้น ซึ่งได้มีการอบรมไประดับหนึ่งแล้วแต่ไม่ได้หมายความว่าจะเลิก ฉะนั้นการที่จะเลิกมันต้องมีระยะเวลาในการเตรียมการแก้ไขปัญหาพวกนี้ก่อน เช่นเรื่องของสารตัวใหม่ที่จะนำมาทดแทน หรือไม่สารตัวใหม่จะต้องอยู่ในราคาที่อยู่ในระดับเดียวกัน นี่เป็นสิ่งที่เราเองก็อยากจะเสนอแนะในส่วนนี้
ซึ่งอยากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คืออ้อยฉีดยาฆ่าหญ้าเพียงครั้งเดียวในช่วงเพาะปลูก แล้วอ้อยกว่าจะโตมันต้องใช้เวลาถึง 12 เดือน ซึ่งช่วงหลังนี้เราก็ไม่ได้ใช้สารตัวนี้อีกแล้ว เพราะว่าโดยปกติหญ้าหรือวัชพืช ถ้าเป็นต้นอ้อยที่โตกว่ามันก็จะไม่แข่งขันกันโต มันก็จะไม่สามารถโตได้ เพราะใบและต้นอ้อยคลุมมันเอาไว้ ซึ่งอ้อยจะแตกต่างจากพืชไร่ชนิดอื่นๆ เช่น ผักผลไม้ที่กินโดยตรง เช่น ช่วงที่มันออกผลผลิตที่ใช้เวลาไม่นานก็จะต้องฆ่าหญ้าและแมลงอยู่ตลอด
สุดท้ายเกษตรกรชาวไร่อ้อย ขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างถี่ถ้วน หากยกเลิกก็ขอให้มีกรอบระยะเวลาให้กับชาวไร่อ้อย จนกว่าจะมีสารตัวใหม่มาทดแทน และสารจะต้องมีประสิทธิภาพ รวมทั้งราคาจะต้องเท่าเทียมกันกับของเดิมด้วย และในวันจันทร์ นี้ทางคณะกรรมการจะเดินทางนำหนังสือไปมอบกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งมอบไปให้กับทางรัฐบาลเพื่อทราบปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไป