"ศวทก." ใช้โดรนสำรวจประชากรพะยูนในแหล่งหญ้าทะเล และสัตว์ทะเลหายาก พื้นที่เกาะพะงัน
29 ม.ค. 2567, 09:52
เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ศวทก.) ปฏิบัติงานสำรวจประชากรพะยูนในแหล่งหญ้าทะเลพื้นที่ อ. เกาะพะงัน โดยวิธีการสำรวจด้วยใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) และสำรวจประชากรและตรวจสุขภาพสัตว์ทะเลหายากบริเวณพื้นที่ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 21 - 27 มกราคม 2567 โดยวิธีการสำรวจทางเรือ (Boat Survey) ผลการดำเนินงานการสำรวจประชากรพะยูนในแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ อ.เกาะพะงัน ได้แก่ 1.พื้นที่เกาะแตใน 2.พื้นที่อ่าวบางจารุ และ 3.พื้นที่อ่าวบ้านค่าย รวมพื้นที่ 500 ไร่ เบื้องต้นยังไม่พบพะยูนในระหว่างการสำรวจ จนท.ได้นำขัอมูลการสำรวจในครั้งนี้ไปปรับปรุงและจะดำเนินการติดตามพะยูนในพื้นที่ต่อไป
การสำรวจประชากรและตรวจสุขภาพสัตว์ทะเลหายาก พื้นที่อ่าวดอนสัก ดำเนินการสำรวจแบบ Line transect และ Photo Identification ผลการปฏิบัติงานเบื้องต้นพบโลมาจำนวน 1 ชนิด ได้แก่ 1.โลมาหลังโหนก (Indo-Pacific Humpback Dolphin, Sousa chinensis) ประมาณ 10 ตัว อยู่รวมกันแบบเดี่ยวและเป็นคู่ พบพฤติกรรมอาหาร และทางสังคม ผลการตรวจร่างกายของโลมาหลังโหนกในพื้นที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่าสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ (Body condition score 3/5) อัตราการหายใจอยู่ที่ 4-6 ครั้ง / 5 นาที คุณภาพการหายใจดี คือเสียงหายใจดัง เคลียร์ และสั้น การว่ายน้ำและการลอยตัวปกติ พบโลมา 1 ตัว มีความผิดปกติที่ผิวหนัง คือพบแผลหลุมบริเวณปลายครีบ ซึ่งอาจเกิดจากฝนตกและมีน้ำจืดลงมากทำให้ค่าความเค็มลดลง จึงมีผลต่อผิวหนังของโลมา
ที่มา : เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง