เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



จำไว้แล้วเลี่ยง !  4 ยาที่มีผลต่อสมอง กินบ่อย...เสี่ยงสมองเสื่อม 


31 ม.ค. 2567, 16:46



จำไว้แล้วเลี่ยง !  4 ยาที่มีผลต่อสมอง กินบ่อย...เสี่ยงสมองเสื่อม 




 


ยา 4 ชนิดต่อไปนี้ ใครที่กินเป็นประจำโดยไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากเภสัชกร หรือแพทย์ อาจเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม...

1.ยานอนหลับ หลายๆ คนโดยเฉพาะผู้สูงอายุมักประสบปัญหาเรื่องการนอน และต้องพึ่งพายานอนหลับทุกคืน แต่ในระยะยาวคนกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมได้ เพราะยานอนหลับมีฤทธิ์กดสมองส่วนที่เกี่ยวกับการจดจำ และการเรียนรู้ เมื่อสมองส่วนนี้ถูกปิดกั้นการทำงานเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมตามมา

2.ยาแก้แพ้ สภาพอากาศแปรปรวน และมลภาวะต่างๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีคนป่วยด้วยโรคภูมิแพ้มากขึ้น หลายคนถึงกับพกยาแก้แพ้ติดตัว และมักซื้อยากินเอง นอกจากนี้บางคนยังใช้ยาแก้แพ้เพื่อช่วยให้นอนหลับ แม้ว่ายาแก้แพ้จะไม่ได้ส่งผลเสียต่อสมองในทันที แต่ตัวยาจะมีผลกับสารสื่อประสาทชนิดที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และการจดจำ นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายที่รับประทานยาอื่นๆ ซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทเหมือนกัน ก็ยิ่งส่งผลให้สมองและระบบประสาททำงานได้ช้าลง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม

3.ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นยาอีกชนิดที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน และคนส่วนใหญ่มักซื้อมารับประทานเองเมื่อมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แต่ยาชนิดนี้หากรับประทานเป็นประจำ ก็จะส่งผลให้ปริมาณสารสื่อประสาทลดลง ทำให้มีอาการหลงลืม โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ 

4.ยาฆ่าเชื้อ จริงๆ แล้วยาฆ่าเชื้อไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสมองของเราโดยตรง แต่จะมีผลกับจุลินทรีย์ที่มีบทบาทในการสังเคราะห์สารสื่อประสาท เนื่องจากยาฆ่าเชื้อเมื่อเข้าสู่ทางเดินอาหาร จะไปฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ เมื่อไม่มีจุลินทรีย์ สารสื่อประสาทก็จะไม่เกิด ส่งผลต่อสมองส่วนที่ทำหน้าที่จดจำและเรียนรู้ จึงอาจเป็นสาเหตุให้สมองเสื่อมได้    

“ยา” ก็เหมือนกับอาหาร ถ้ารับประทานในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของเราได้ แต่ถ้าใช้ยาผิดวิธี นอกจากโรคที่เป็นอยู่จะไม่ดีขึ้นแล้ว อาจจะได้โรคอื่นเพิ่มขึ้นด้วย หากคุณต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ควรมั่นใจว่า ยานั้นจะไม่ส่งผลกระทบกับร่างกายและสมองของผู้ป่วยมากขึ้น หลีกเลี่ยงและระมัดระวังไม่ให้ผู้ป่วยกินยาพร่ำเพรื่อ กินยาซ้ำซ้อน(เนื่องจากภาวะหลงลืม บางครั้งผู้ป่วยอาจลืมว่ากินยาไปแล้ว แต่บอกว่ายังไม่ได้กิน) หากต้องรับประทานยาชนิดเดิมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ควรได้รับคำแนะนำจากเภสัชกร หรือแพทย์เท่านั้น.









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.