เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



รองนายกฯ กล่าวถ้อยแถลงความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ย้ำ! การช่วยเหลือชาวเมียนมา


3 ก.พ. 2567, 13:09



รองนายกฯ กล่าวถ้อยแถลงความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ย้ำ! การช่วยเหลือชาวเมียนมา




นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงในช่วงการประชุมโต๊ะกลมในหัวข้อ “ความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคง (Geopolitical and Security Challenges)” ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก (EU Indo-Pacific Ministerial Forum – IPMF) ครั้งที่ 3 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม โดยกล่าวย้ำความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เพิ่มมากขึ้น ในการกำหนดระเบียบโลกใหม่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงเช่นกัน ซึ่งไทยเชื่อมั่นในระบบหลายขั้วอำนาจและบทบาทของอาเซียนในการสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจตามมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของอียู โดยอียูสามารถมีบทบาทในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับไทยและอาเซียน

 นอกจากนี้ รองนายกฯ ยังได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อให้สันติภาพ เสถียรภาพ และความเป็นเอกภาพกลับคืนสู่เมียนมา



ในห้วงการประชุมครั้งนี้ รองนายกฯ ยังมีการหารือกับนางสาวฮังเกอ แบร็วนส์ สโลต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ เกี่ยวกับแนวทางการผลักดันความร่วมมือทวิภาคีเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การจัดการน้ำ การเกษตรอัจฉริยะ พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมถึงแนวทางการสนับสนุนบทบาท และยุทธศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน

และในการหารือกับนายเปเตอร์ ซิยาร์โท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี ทั้ง 2 ฝ่ายมีความยินดีที่ความสัมพันธ์ไทย-ฮังการีมีพัฒนาการเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งฮังการีรับที่จะผลักดันในช่วงการเป็นประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 นอกจากนี้ ไทยได้ขอบคุณฮังการีที่สนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561


 


ในโอกาสนี้ รองนายกฯ ได้ขอรับการสนับสนุนจากเนเธอร์แลนด์และฮังการีสำหรับการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๒๗ ของไทย การสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และการขอยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศรับที่จะสนับสนุนด้วยดี






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.