เปิดข้อมูลเส้นทางเลือกโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จ.กาญจนบุรี
7 ก.พ. 2567, 11:30
วันนี้ 7 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2508 มีพื้นที่ประมาณ 858.55 ตารางกิโลเมตร หรือ 536,594 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีลักษณะคล้ายรูปลิ่มวางตัวแนวเหนือ-ใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นภูเขาสลับซับซ้อนแต่จะมีพื้นที่ราบกระจายตัวอยู่ตามหุบเขา มีลักษณะเป็นที่ราบสูง ที่ราบเชิงเขาและที่ราบบริเวณล้าห้วย ตามล้าดับ มีระดับความสูงอยู่ระหว่าง 50-1,178 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาสูงสุด คือ เขาหัวโล้น มีความสูง 1,178 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตอนกลางพื้นที่ค่อนลงมาทางใต้มีพื้นที่ราบที่สำคัญ เรียกว่า ทุ่งสลักพระ มีล้าห้วยสะด่องเป็นล้าห้วยสายหลักไหลผ่านในแนวเหนือใต้ ลงสู่แม่น้ำแควใหญ่หรืออ่างเก็บน้ำเขื่อนท่าทุ่งนาที่ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ทางตอนเหนือเป็นอ่าวขนาดใหญ่ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ และมีแนวสันเขาเชื่อมต่อเข้าไปในอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์
ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้ถูกจัดแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A มีพื้นที่มากที่สุดประมาณ 364.29 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 227,686 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 42.44 ของพื้นที่ทั้งหมดพื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อนในแนวเหนือ – ใต้และบริเวณพื้นที่ตอนกลางของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 162.01 ตารางกิโลเมตรหรือ 101,257 ไร่คิดเป็นร้อยละ 18.88 ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระพื้นที่ส่วนใหญ่กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ภูเขาโดยรอบบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 140.33 ตารางกิโลเมตรหรือ 87,711 ไร่คิดเป็นร้อยละ16.34 ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ภูเขาต่อเนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 โดยรอบ
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 178.95 ตารางกิโลเมตรหรือ 111,849 ไร่คิดเป็นร้อยละ 20.84 ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่บริเวณแนวเขตโดยรอบเป็นส่วนใหญ่ และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 12.94 ตารางกิโลเมตรหรือ 8,091 ไร่คิดเป็นร้อยละ 1.50 ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จะพบบริเวณที่ราบทางตอนใต้
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง เสือดาวหรือเสือดำ หมี กวาง เก้ง หมูป่า หมาป่า ชะมด เสือปลา ลิง เม่น ชะนีมือขาว ค่างแว่นถิ่นเหนือ ลิงลม กระรอก เป็นต้น
ชนิดสัตว์ป่าที่มีความสำคัญตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 สัตว์ป่าสงวน คือ ชนิดสัตว์ป่าที่หายาก หรือใกล้จะสูญพันธุ์หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเข้มงวดกวดขัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่สัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือซากสัตว์ป่า ซึ่งอาจจะตกไปอยู่ยังต่างประเทศด้วยการซื้อขาย ภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พบสัตว์ป่าสงวน จำนวน 4 ชนิด จากทั้งหมด 15 ชนิด ได้แก่ เลียงผา เก้งหม้อ ละองละมั่ง และแมวลายหินอ่อน ซึ่งพบเห็นว่ามีชนิดพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวจริงจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (camera trap)
สัตว์ป่าคุ้มครอง คือ สัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ตามบัญชีแนบท้าย กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่า บางชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พบสัตว์ป่าคุ้มครอง ดังนี้ นก (Bird) จำนวน 192 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูก ด้วยนม (mammal) จำนวน 32 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน (reptile) จำนวน 22 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (amphibian) จำนวน 3 ชนิด
สถานภาพของทรัพยากรปัจจุบันกับเส้นทางเลือกของโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เบื้องต้น จากกรอบแนวคิดการพัฒนาโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งของอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจาและอำเภอเลาขวัญ โดยพิจารณาแนวทางเลือกการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มายังพื้นที่ที่ประสบภัยปัญหาภัยแล้งด้วยท่อส่งน้ำและหรือคลองส่งน้ำ ได้สรุปแนวทางเลือกการผันน้ำเบื้องต้นไว้ 7 ทางเลือก
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้สรุปข้อมูลสถานภาพของทรัพยากรด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 5 ที่มีการตัดผ่านพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระโดยตรง และเป็นพื้นที่สำคัญที่ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามและมีคุณค่า เช่น น้ำพุร้อน น้ำตก ทรัพยากรพืช และสัตว์ป่า ในประเด็น ดังนี้
1. พื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A เส้นทางเลือกที่ 1 และ 5 ทั้ง 2 เส้นทางผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A มีพื้นที่มากที่สุดประมาณ 364.29 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 227,686 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 42.44 ของพื้นที่เขตฯ ครอบคลุมพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อนในแนวเหนือ – ใต้และบริเวณพื้นที่ตอนกลางของเขตฯ
2. ลักษณะภูมิประเทศ บริเวณด้านบนของพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนแต่จะมีพื้นที่ราบกระจายตัวอยู่ตามหุบเขา มีลักษณะเป็นที่ราบสูง ที่ราบเชิงเขาและที่ราบบริเวณลำห้วย บริเวณเส้นทางเลือกที่ 5 การดำเนินการจะผ่านลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขา มีระดับความสูง ตั้งแต่ 500 1,215 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของพื้นที่เขตฯ พื้นที่ชายหุบเขาลงมาด้านล่างเป็นพื้นที่ราบสูงกว้างใหญ่มีเนื้อที่ ประมาณ 10,000 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 700 เมตร มีชื่อเรียกว่า “ทุ่งนามอญ” เป็นพื้นที่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่าบริเวณนี้
ลักษณะสังคมพืชเป็นป่า ดิบแล้งที่มีความอุดมสมบูรณ์และไม่มีการถูกรบกวน เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ ถูกจัดเป็น เขตหวงห้าม (Strict Nature Reserve Zone) เป็นบริเวณที่มีสังคมพืชและป่าไม้สมบูรณ์ควรค่าแก่การรักษาไว้ เพื่อเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าและแหล่งต้นน้ำลำธาร ซึ่งพื้นที่เขตนี้ไม่ยอมให้มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ นอกจากจะปล่อยไว้ให้เป็นสภาพธรรมชาติแบบดั้งเดิม เพื่อมิให้เกิดการรบกวนการเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และสภาพธรรมชาติโดยรอบ
บริเวณเส้นทางเลือกที่ 1 การดำเนินการจะผ่านสันเขาและแนวภูเขาสลับซับซ้อนบางจุด มีระดับความสูง ตั้งแต่ 400-600 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ราบด้านในตอนกลางของเขตฯ ประมาณ 20,000 ไร่ เป็นที่ราบลุ่มล้อมรอบด้วยภูเขา เรียกว่า “ทุ่งสลักพระ” พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยลักษณะของป่าเบญจพรรณผสมไผ่ สภาพป่ามีความโปร่ง มีแหล่งน้ำ และโป่งธรรมชาติ กว่า 100 โป่ง เป็นพื้นที่อาศัยที่สำคัญที่สุดของสัตว์ป่าในบริเวณนี้ พื้นที่ดำเนินโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เบื้องต้นตัดผ่านพื้นที่สำคัญของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่มีความบอบบางต่อระบบนิเวศเป็นอย่างสูง
ปัจจุบันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) ในการป้องปรามการกระท้าผิดในพื้นที่เขตฯ และการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านระบบนิเวศที่สำคัญทั้งพืชและสัตว์ป่า มีการบันทึกข้อมูลการกระจายของสัตว์ป่าที่เป็นดัชนีชี้คุณภาพของระบบนิเวศ คือ โครงสร้างของสัตว์ผู้ล่าที่สำคัญ คือ เสือโคร่ง สัตว์กินพืช คือ ช้าง และสัตว์กีบที่สำคัญอื่น ๆ ในพื้นที่และประมวลผลข้อมูลเชิงพื้นที่ แสดงผลการกระจาย และการเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัย
ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่มีการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะการปรากฏของเสือโคร่งที่ยืนยันข้อมูลแล้วว่าเกิดจากการขยายถิ่นอาศัยของประชากรเสือโครงจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก จากที่ประชากรเสือโคร่งได้หายไปจากพื้นที่ธรรมชาติเมื่อกว่า 10 ปีก่อน การพบเสือโคร่งและเหยื่อที่มีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งในระบบนิเวศเพราะเป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการดูแลรักษาพื้นที่และการฟื้นฟูตัวเองของพื้นที่ตามระบบนิเวศ โดยมีข้อมูลด้านสัตว์ป่าที่สำคัญ ได้แก่ เสือโคร่ง ช้างป่า กระทิง กวางป่า เก้ง หมูป่า นกแก๊ก และนกเงือก .....ประชาชนฝากมาว่าพวกเขารอน้ำมานานบางคนเสียชีวิตไปแล้วก็มากพวกเขาไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค และเมื่อโครงการนี้จะเข้ามาก็ต้องศึกษากันให้หนัก แต่ขอให้เอาประชาชนเป็นหลัก หากไม่มีเหตุผลเป็นที่พอใจปัญหาคงตามมาอีกมาก เพราะล่าสุด หน.สลักพระก็โดนย้ายไปหมาดๆ ไม่ทราบโดนเรื่องใด บื้องต้นคาดว่าจากน่าจะเกิดจากการคัดค้านโครงการนี้ก็เป็นได้ เรื่องนี้ขออย่าให้เป็นหนังเรื่องยาว ประชาชนฝากย้ำมาว่า อยู่เมืองกาญจน์มีเขื่อนขนาดใหญ่ถึง 2 เขื่อน แต่หลายอำเภอกับไม่มีน้ำใช้ทั้งอุปโภค บริโภค ประชาชนก็ต้องเฝ้ารอดูกันไป./