นายกฯ ย้ำรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา PM2.5 กำจัดการเผาทำลาย บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด
8 ก.พ. 2567, 15:15
วันนี้ ( 8 ก.พ.67 ) เวลา 11.50 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจากรณีปัญหา PM2.5 ว่าเป็นปัญหาที่มีรากเหง้ามาจากปัญหาเศรษฐกิจ การใช้ไม้ขีดก้านเดียวนั้นมีราคาถูกมากในการที่จะเผาตอข้าว ซังข้าวโพด เพราะฉะนั้นเราจะต้องดูแล ควบคุมให้ดี ไม่ให้มีการเผาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไถกลบ รวมถึงการให้องค์ความรู้กับเกษตรกร โดยในปัจจุบันนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหา PM2.5 ซึ่งทางนิติบัญญัติมีนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานกรรมาธิการผลักดันพระราชบัญญัติอากาศสะอาดที่รวมกับร่างฯ ของประชาชนและพรรคการเมืองอีก 6 ฉบับ ได้ส่งเข้าสู่สภาฯ แล้ว
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงตัวเลขภายในประเทศบ่งชี้ว่า จุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมามีการลดลงอย่างมีนัยยะ แต่เป็นที่น่าเสียดายเราไม่ได้อยู่เพียงประเทศเดียวในโลก เรามีเพื่อนบ้านที่อาจยังไม่มีปัจจัยในการตรวจสอบมากเท่าเรา ซึ่งประเทศเขาก็ปลูกพืชผลเหมือนเราอาจจะยังมีความเข้าใจผิดในการกำจัดซากพืชเหล่านี้ โดยเมื่อวานนี้ (7 ก.พ. 67) ได้มีการเจรจาทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เรื่องปัญหา PM2.5 ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน ในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นความโชคดีและมีปัญหาแฝงด้วย เนื่องจากราคาข้าวมีราคาที่ดี ทำให้ประชาชนอยากจะปลูกข้าวรอบสอง ทำให้มีการเร่งเผาทำลายวัชพืช โดยปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ปัญหานี้เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาเช่นกัน หลังจากมีการพูดคุยกันทั้งสองประเทศแล้วจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและตรวจจับผู้ที่เผาทำลายวัชพืชด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เมื่อวันอังคาร (6 ก.พ. 67) ได้สั่งการคณะรัฐมนตรีให้มีการใช้มาตรการ Negative incentive ในการกำจัดการเผาป่า หากเกษตรกรรายใดมีการเผาอยู่ก็จะถูกตัดสิทธิ์ในการที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ใครที่ทำผิดกฎหมายอาจจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายโดยกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้เราจะไม่ใช้แค่มาตรการ Negative incentive อย่างเดียวแต่เราจะให้ความช่วยเหลือด้วยในแง่ของการจัดให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปช่วยเหลือในการขนวัชพืชเหล่านี้เข้ามาทำไบโอดีเซล ทำถ่านไร้ควันหรือทำปุ๋ยอินทรีย์ นอกจากนี้จะมีการให้ความรู้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง