ไทย เดินหน้าตั้งจุดมนุษยธรรมชายแดนไทย-เมียนมา ระเบียงเพื่อความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
9 ก.พ. 2567, 15:42
วันนี้ ( 9 ก.พ.67 ) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยเดินหน้าเปิดจุดมนุษยธรรมระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา จากข้อริเริ่มของไทยในการจัดตั้ง ‘ระเบียงมนุษยธรรม’ (humanitarian corridor) ยกระดับการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ที่อาเซียนเห็นพ้องและตอบรับในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งข้อริเริ่มของไทยนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งใน 5 ข้อของฉันทามติอาเซียน และเมียนมาพร้อมให้การสนับสนุนในเรื่องนี้
โดยในวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ อ. แม่สอด จ. ตาก เพื่อสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ให้ได้ภายใน 1 เดือน
ซึ่งศูนย์ฯ นี้จะเป็นพื้นที่เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง หรือยารักษาโรค ผ่านสภากาชาดไทยไปยังสภากาชาดเมียนมา โดยมีพื้นที่ที่ตั้งเป็นศูนย์รับการช่วยเหลือในรัฐกระเหรี่ยง เมียนมา ที่จะถือเป็นจุดแรกที่จะส่งความช่วยเหลือเข้าไป โดยมีศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management : AHA Centre) สภากาชาดไทย และสภากาชาดเมียนมา หรือหน่วยงานกลาง เข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยศูนย์ฯ ดังกล่าว จะเริ่มต้นจากด่านศุลกากรแม่สอดแห่งที่ 2 อ. แม่สอด จ.ตาก ผ่านด่านแม่สอดเมียวดี สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ไปยังพื้นที่ที่มีผู้ผลัดถิ่น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการประสานงานกับรัฐบาลเมียนมา และได้รับการตอบรับด้วยดี โดยคาดว่าเมื่อทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะทำให้เกิดการพูดคุย และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา จนนำไปสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพได้ต่อไป
“รัฐบาลเดินหน้าข้อริเริ่มจัดตั้ง ‘ระเบียงมนุษยธรรม’ ยกระดับการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา มุ่งหวังนำไปสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพ สอดคล้องต่อฉันทามติ 5 ข้อ ที่อาเซียนบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ตามที่ไทยได้เสนอแนวทาง D4D (De-escalating Violence, Delivering Humanitarian Assistance, Discharge of Detainees และ Dialogue) ” นายชัย กล่าว