เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เผยดัชนีชี้คุณภาพของระบบนิเวศ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ กับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ


12 ก.พ. 2567, 20:20



เผยดัชนีชี้คุณภาพของระบบนิเวศ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ กับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ




ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า จากภาพการกระจายชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญที่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี โดยเฉพาะเส้นทางหากินของเสือโคร่งในลักษณะทิศเหนือของพื้นที่ลงมาอาศัยประจำบริเวณตอนกลางของพื้นที่ ซึ่งมีการพบเจอรอยตีนได้บ่อยครั้งจากเจ้าหน้าที่ประจ้าหน่วยพิทักษ์ป่าสลักพระ และการเก็บภาพได้จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (camera trap) สามารถกำหนดได้ว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นพื้นที่หากินของเสือโคร่ง เนื่องจากพื้นที่อยู่โซนด้านในมีความปลอดภัยจากภัยคุกคาม อีกทั้งปริมาณชนิดเหยื่อและความอุดมสมบูรณ์ของประชากรเหยื่อ เมื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นสัตว์ป่าที่เป็นดัชนีชี้คุณภาพของระบบนิเวศ ดังนี้

แนวทางเลือกการดำเนินโครงการตัดผ่านพื้นที่หากินของเสือโคร่ง แนวทางเลือกที่ 1 มีพื้นที่การดำเนินโครงการอยู่ใกล้พื้นที่อาศัยประจำและหากินของสัตว์เสือโคร่ง และสัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช้างป่า ซึ่งประชากรฝูงช้างป่าอาศัยอยู่บริเวณทุ่งสลักพระ ตลอดจนสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ได้แก่ กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง เลียงผา นกยูง ส่วนแนวทางเลือกที่ 5 มีพื้นที่เส้นทางเคลื่อนย้ายถิ่นอาศัยของเสือโคร่งจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมาสู่พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

จากแนวทางเลือกที่ 1 และ 5 เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า เห็นได้ชัดเจนว่าอยู่ในพื้นที่ที่มีการกระจายของสัตว์ป่าเป็นดัชนีชี้คุณภาพของระบบนิเวศ จากชนิดพันธุ์ที่เห็นได้จากการเก็บข้อมูลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งหมายความว่า พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ด้วย ดังปรากฏในรายชื่อสัตว์ป่าที่มีการบันทึกข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (camera trap) ทั้งสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ เลียงผา เก้งหม้อ ละองละมั่ง และแมวลายหินอ่อน และสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิด เช่น ช้างป่า วัวแดง กวางป่า เลียงผา กระทิง หมูป่า อีเก้ง ลิ่น นกยูง ชะนี เป็นต้น สัตว์ผู้ล่าที่สำคัญได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว เสือไฟ เสือลายเมฆ หมาจิ้งจอกและหมาใน ตลอดจนสัตว์เลื้อยคลาน และนกที่เป็นชนิดพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครอง กว่า 190 ชนิด เป็นต้น

พื้นที่ด้านในของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเป็นพื้นที่รองรับการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สำคัญของประเทศ และมีการศึกษาวิจัยซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ จากสภาพพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุ่งสลักพระ และทุ่งนามอญ ทำให้มีโครงการศึกษาวิจัยในการสำรวจ การฟื้นฟู การอพยพย้ายถิ่น และการปล่อยคืนประชากรสัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่สำคัญระดับโลก และระดับประเทศ และเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล การรายงาน การวิเคราะห์ ทุกโครงการมีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางระบบนิเวศ ดังนั้น การดำเนินโครงการพัฒนาในพื้นที่ศึกษาวิจัยย่อมมีผลกระทบต่อผลการศึกษาด้าน สัตว์ป่าที่มีการลงทุนทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร เวลา และการได้มาซึ่งองค์ความรู้เพื่อนำไปบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้

1.การผสมเทียมละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของประเทศไทย เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวนศาสตร์ ร่วมกับองค์การสวนสัตว์ในพระราชูปถัมภ์ ร่วมกันศึกษาวิจัยการรักษาสายพันธุ์ละองละมั่ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศและมีสถานะภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ป่าธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยมาก เมื่อมีการศึกษาสภาพพื้นที่แล้วพิจารณาได้ว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระสามารถเป็นพื้นที่รองรับการฟื้นฟูประชากรละองละมั่งได้ จึงได้มีการจัดทำโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอาทิตยาทรกิติคุณ ทรงเสด็จเป็นประธานปล่อยสัตว์ป่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2554

ปัจจุบันพบว่าละองละมั่งมีการสืบพันธุ์และขยายประชากรเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่อยู่ในขั้นตอนการสรุปผลถึงความคงอยู่ของประชากรละองละมั่งในป่าธรรมชาติได้ ต้องอาศัยระยะเวลาการศึกษาเรื่องการฟื้นฟูประชากรละองละมั่งในพื้นที่ดังกล่าวถึงการสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ได้จนถึงรุ่นที่ 3 – 4 จากประชากรตั้งต้น เนื่องจากละองละมั่งเป็นสัตว์ที่อ่อนไหว ตกใจง่าย และช๊อคตายได้ง่าย จาการพบละองละมั่งตายติดต่อกันหลายตัวเมื่อ ปี พ.ศ. 2560 ส่งพิสูจน์ซากไม่มีบาดแผลพบว่าหัวใจสูบฉีดแรงเกินไป จึงถือว่าเป็นสัตว์ที่อ่อนแอต่อการถูกคุกคาม การเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการที่ผ่านพื้นที่อาศัยของสัตว์ชนิดนี้จึงถือว่าก่อให้เกิดความเสียงต่อการฟื้นฟูประชากรละองละมั่งในป่าธรรมชาติ

2. โครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวนศาสตร์ ร่วมกับองค์การสวนสัตว์ในพระราชูปถัมภ์ ปล่อยวัวแดง เมื่อ ปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบันยังมีการดำเนินโครงการดังกล่าวอยู่ และมีการปล่อยคืนป่าธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประชากรและโอกาสในการฟื้นฟูประชากรในป่าธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่ป่าสลักพระในอดีตมีประชากรวัวแดงในธรรมชาติจำนวนมาก แต่ถูกล่าโดยมนุษย์ และเกิดภัยคุกคามถิ่นอาศัยจนไม่ปรากฏร่องรอยประชากรวัวแดงในพื้นที่ป่า และคาดการณ์ว่าสูญหายไปหมดแล้วจากพื้นที่เขตฯ การฟื้นฟูประชากรวัวแดงจึงเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญเพราะมีจ้านวนประชากรประมาณ 10 ตัว ซึ่งถือว่ามีจ้านวนน้อยมาก

3. โครงการสำรวจการฟื้นฟูของประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระและอุทยานแห่งชาติโดยรอบ เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย เพื่อสำรวจและศึกษาการเลือกใช้พื้นที่และการเคลื่อนที่ของเสือโคร่ง จากการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องทำให้สามารถสำรวจพบประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยมีข้อมูลทั้งตัวที่พบใหม่ในพื้นที่ และตัวที่เดินทางย้ายถิ่นเพื่อขยายเขตหากินออกมาจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของการป้องกันรักษาพื้นที่ให้มีความปลอดภัยและมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอที่จะให้สัตว์ผู้ล่าชนิดใหญ่ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารกลับมาพื้นที่เพื่อสร้างถิ่นอาศัยทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศอีกครั้ง โดยเฉพาะความคาดหวังเรื่องการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในพื้นที่เพื่อควบคุมประชากรช้างป่าตามวัฏจักรของระบบนิเวศ

4.โครงการติดตามเสือดาวในพื้นที่ภาคตะวันตกและพื้นที่ภาคใต้ ประเทศไทย เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย ปัจจุบันมีข้อมูลว่า ประเทศไทยมีเสือดาวเหลือเพียง 5% ของพื้นที่อาศัยทั้งหมด (Rostro-Garcia et al. 2016) แต่ไม่มีการพบเสือดาวกระจายทั่วพื้นที่อนุรักษ์ของผืนป่าตะวันตก และพบการกระจายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทางใต้เพียงบางแห่ง และเป็นพื้นที่ถูกตัดขาดจากผืนป่าอื่น และไม่ปรากฏการพบเสือดาวทางพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่หลายแห่งทางตะวันออก (เขาใหญ่) และตอนเหนือของประเทศไทย (กลุ่มป่าภูเขียว น้ำหนาว) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชากรเสือดาวมีสภาวะเสี่ยงมาก

มีข้อมูลบ่งชี้ว่าการอนุรักษ์เสือดาวในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำได้ยากกว่าเสือโคร่ง อาจเพราะเสือดาวไม่สามารถแย่งเหยื่อของเสือโคร่งและพื้นที่อาศัยอยู่บริเวณของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จึงถูกภัยคุกคามได้โดยง่าย จากการดำเนินโครงการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ได้ภาพเสือดาว และเสือดาวลักษณะสีดำ (เสือดำ) ในพื้นที่เขตฯ แต่ยังไม่สามารถประเมินความหนาแน่นของประชากรได้ ทั้งนี้มีแผนการดำเนินโครงการติดตามเสือดาวในระยะยาวเพื่อให้ทราบความหนาแน่นของประชากรเสือดาวในพื้นที่ และจะกลายเป็นพื้นที่แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการดำเนินโครงการติดตามประชากรเสือดาวนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นพื้นที่ต้นแบบต่อการอนุรักษ์ประชากรเสือดาวที่สำคัญ

5. โครงการศึกษานิเวศวิทยาการกระจายและภัยคุกคามของลิ่นชวา (Manis javanica) ในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออกเฉียงใต้ของผืนป่าตะวันตก เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย จากสถานการณ์การถูกคุกคามลิ่นชวาในด้านต่าง ๆ ทั้งการล่าตัวลิ่น และการถูกทำลายถิ่นอาศัยไปเป็นพื้นที่เกษตร ส่งผลต่อการลดลงของประชากรลิ่นอย่างรวดเร็วและมีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์เพราะการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสัตว์กลุ่มนี้ยังมีไม่มากพอเพื่อทำความเข้าใจด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับนิเวศวิทยาของลิ่นชวา

จึงมีการสำรวจและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันการปรากฏของลิ่นชวาในพื้นที่เขตฯ เพราะสภาพป่ามีลักษณะที่สามารถพบลิ่นชวาได้ และจากผลการสำรวจมีภาพลิ่นชวาที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าในพื้นที่ แต่นับได้ว่ามีปริมาณการปรากฏที่น้อยมาก เป็นข้อบ่งชี้ว่าพื้นที่นี้มีนิเวศวิทยาของลิ่นที่สามารถอาศัยได้ตามธรรมชาติ แต่การพบปริมาณที่น้อยมากนั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการหมดไปในพื้นที่เขตฯ ข้อมูลดังกล่าวมีผลต่อการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพการป้องกันบริเวณที่พบลิ่นชวา ทั้งนี้ บริเวณที่ทำการสำรวจการปรากฏของลิ่นชวาอยู่ในพื้นที่ทุ่งสลักพระ

นอกจากโครงการศึกษาวิจัยชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการนั้น ที่ผ่านเขตฯ เป็นพื้นที่ศึกษาความหลากหลายทางระบบนิเวศที่สำคัญอีกหลายชนิด เช่น การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของหมี การศึกษาชนิดกระรอกหลากสี การศึกษามดต่างถิ่น การเก็บข้อมูลค้างคาวในพื้นที่ การศึกษาความหนาแน่นของหมาในและชนิดพันธุ์เหยื่อ การวางแปลงถาวรเพื่อศึกษาความหลากหลายของชนิดป่าในพื้นที่ และมีแผนจะดำเนินการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ (inventory) ทั่วพื้นที่ ฯลฯ

6. การรบกวนที่อยู่อาศัยด้านในของช้างป่าอาจนำมาซึ่งการย้ายถิ่นหากินออกมานอกพื้นที่อย่างถาวร ปัจจุบันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมีประชากรช้างป่า จำนวน 250-300 ตัว และฝูงช้างป่า ส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ด้านในทุ่งสลักพระ ถึงแม้ปัจจุบันเขตฯ มีปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ มารบกวนพื้นที่เกษตรของราษฎรรอบพื้นที่เขตฯ ลักษณะการออกนอกพื้นที่เป็นช้างป่าตัวที่ออกเป็นประจำ ครั้งละ 1-2 ตัว มีบางพื้นที่เป็นกลุ่มย่อย จ้านวน 5-6 ตัว แต่ยังไม่พบข้อมูลว่าช้างป่าหากินอยู่นอกพื้นที่อย่างถาวรโดยไม่กลับเข้าป่า นั่นหมายความว่าสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอต่อจำนวนประชากรช้างป่าในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากความหนาแน่นจนล้นออกมานอกพื้นที่ป่า

จึงมีข้อสันนิษฐานว่าการออกนอกพื้นที่อาศัยมาหากินด้านนอกเป็นการเรียนรู้ในเชิงพฤติกรรมของช้างป่ามากกว่าการขาดแคลนแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร หรือเกิดจากภัยคุกคามในพื้นที่อาศัยจนทำให้สัตว์ป่าที่มีการเรียนรู้สูงอย่างช้างป่าอพยพฝูงย้ายถิ่นอาศัย อีกทั้งสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ายังไม่รุนแรงเท่ากับปัญหาฝูงช้างป่าบริเวณอำเภอทองผาภูมิ ที่ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นฝูง จำนวน 20-30 ตัว อาศัยหากินบริเวณหย่อมป่าในพื้นที่ชาวบ้านที่อยู่แนวเชื่อมต่อป่าอนุรักษ์โดยไม่กลับเข้าสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์

อีกทั้งเมื่อมาเจอสภาวะกดดันขับไล่จากราษฎรและเจ้าหน้าที่ทำให้มีพฤติกรรมดุร้ายท้าร้ายชาวบ้านจนเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ กำลังเป็นพื้นที่ศึกษาพฤติกรรมช้างป่าแห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยมหิดล มีการเก็บข้อมูลโครงการบริเวณทุ่งสลักพระ เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์การเรียนรู้ของช้างทั้ง 2 กลุ่ม คือ ช้างป่าในพื้นที่ และ ช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่รวมถึงช้างเลี้ยง ใช้เป็นข้อมูลประกอบการหาต่อไป

 



 


 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.