รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.ศรีสะเกษ การเตรียม การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2567
14 ก.พ. 2567, 22:06
เมื่อวันที่ 14 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม 1 โครงการชลประทานศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.ศรีสะเกษ การเตรียม การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2567 เพื่อให้การเตรียมการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ โดยมี นายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 13 อุบลราชธานี รายงานถึงแนวทางการสนับสนุนทรัพยากรในพื้นที่รับผิดชอบ และมี นายพีระพงศ์ หมื่นผ่อง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนจากทุกภาคส่วน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ต่อมา รอง ผวจ.ศรีสะเกษ ได้ร่วมประเมินสถานการณ์ ผ่านระบบห้องศูนย์บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.ศรีสะเกษ ในวันนี้ เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะการแบ่งมอบหมายภารกิจในระดับพื้นที่ ตลอดจนเรื่องของการสำรวจข้อมูล เฝ้าระวังภัยแล้ง และพื้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งซ้ำซากต่าง ๆ การเตรียมการแบ่งมอบพื้นที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบจากประชาชนที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง ซึ่งจากที่มีการสั่งการให้อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการสำรวจ มีพื้นที่เสี่ยงจะประสบภัยแล้ง อยู่ 1 ตำบล คือ ในพื้นที่ของเทศบาล ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง ซึ่งประสบปัญหาเรื่องของการขาดแคลนน้ำอุปโภค หรือแหล่งน้ำดิบ ที่จะนำมาใช้ผลิตน้ำประปา ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ตนก็ได้สั่งการให้อำเภอต่าง ๆ ดำเนินการเฝ้าระวัง ให้ดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำดิบ ตลอดจนแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันภัยแล้งในเบื้องต้นซึ่งภัยแล้งบ้านเราทุกวันนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ซึ่งหมายถึง สมัยก่อนการแล้ง คือประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำจริง ๆ แต่ในปัจจุบันเป็นเรื่องของการขาดแคลนแหล่งน้ำดิบ ในการผลิตประปา ซึ่งในส่วนตัวนี้ก็คือการปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาตัวนี้ ชาวบ้านก็จะต้องไปซื้อน้ำใช้ ซึ่งจะต้องเป็นภาระอีกขั้นหนึ่ง ในช่วงหน้าแล้งนี้ ขอให้ประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ซึ่งเราก็ควรต้องใช้น้ำอย่างประหยัด ทั้งน้ำในการอุปโภค บริโภค และด้านการเกษตรเช่นเดียวกัน เพราะต่อไปในอนาคตเราก็ยังไม่รู้ว่าฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ เราจึงควรเห็นคุณค่าของการใช้น้ำอย่างมีคุณค่าที่สุด