นายกฯ เน้นย้ำตั้งใจทำ Digital Wallet เพื่อช่วยเหลือประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องปราศจากคอร์รัปชัน และโปร่งใส
16 ก.พ. 2567, 11:13
วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานในที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยนายกรัฐมนตรีรับฟังและให้โอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
โดยได้กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับฟังทุกความคิดเห็นเพื่อต้องการให้นโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีข้อสรุปที่ดีที่สุด โปร่งใส เหมาะสม ได้ประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนมากที่สุด
ซึ่งในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง หลายส่วนระบุว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว ตัวเลขทางเศรษฐกิจชี้ว่ายังไม่กลับมาเติบโตเท่าช่วงก่อนโควิด หรือการฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน ประชาชนมีรายจ่ายจากหนี้สินทำให้ไม่มีรายได้เหลือเพียงพอซื้อสินค้า ในมุมมองของผู้ขายไม่มีเม็ดเงินให้นำมาขยายกิจการ หรือพัฒนาสินค้า SME ไม่เติบโตเท่าที่ควร หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้เกิดปัญหาระยะยาว การแก้ปัญหาในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วยการเยียวยา ไม่ใช่วิธีที่แก้ปัญหาได้ รัฐบาลจึงควรหาวิธีใหม่ โดยมีการระบุว่า เงินอัดฉีดเข้าระบบจึงเปรียบเสมือนการช่วยชีวิตประชาชน เพื่อให้ต่อยอด ให้ฟื้นตัวในการดำรงชีวิต มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ นอกจากโครงการ Digital Wallet รัฐบาลยืนยันที่จะดำเนินนโยบายด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป ทั้งการเพิ่มความสามารถประชาชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พักหนี้ ช่วยดูแลด้านหนี้ รวมทั้งแสวงหา สนับสนุนการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนการใช้จ่าย
ซึ่งในส่วนของการพัฒนาด้านดิจิทัลหลายส่วนงานมองว่า จะเป็นโอกาสให้ไทยได้พัฒนาโครงสร้างการเงิน เสริมสร้างรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล โดยประชาชนไทยจะได้เรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยี ดิจิทัล ต่อยอดจากโครงสร้างเดิมที่มีมา
ในที่ประชุมจึงได้มีมติให้ทุกส่วนศึกษา พิจารณา ถึงข้อห่วงกังวลที่เกิดขึ้น และนำมาหารือกันอีกครั้ง เพื่อให้การดำเนินนโยบายนี้เป็นไปอย่างได้ประโยชน์สูงสุด และโปร่งใสที่สุด
โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ตลอดเวลาลงพื้นที่อย่างหนักเห็นแววตาประชาชน ต้องการช่วยเหลือให้วิถีชีวิตประชาชนดีขึ้น โดยอีกประเด็นสำคัญคือต้องการให้ดำเนินนโยบายนี้อย่างเปิดเผย โปร่งใส สง่างาม ไม่ต้องการให้มีข้อกังวลใจว่าเป็นนโยบายที่เอื้อไปสู่การทุจริต และต้องการให้เป็นโอกาสของไทยในการเรียนรู้ เท่าทันที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน