บกปภ.ช. ยกระดับปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่า-หมอกควัน-ฝุ่น PM2.5
18 ก.พ. 2567, 15:58
วันนี้ ( 18 ก.พ.67 ) เวลา 10.00 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดและทุกภาคส่วนยกระดับปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างเข้มข้นผ่านระบบ Single Command เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ พร้อมวางมาตรการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคุมการเผาในพื้นที่ มุ่งลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน รวมถึงสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์ได้โดยเร็ว
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า หลายจังหวัดมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งบางพื้นที่เกิดสถานการณ์ไฟป่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย จึงได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและวางมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเข้มข้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จึงได้มีข้อสั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานทุกจังหวัดแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ผ่านระบบการจัดการแบบแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) และกลไกเชิงพื้นที่ ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ หน่วยงานทหาร ภาคเอกชน และภาคประชาชน ดังนี้
1. ยกระดับการปฏิบัติการควบคุมการเผาในพื้นที่อย่างเข้มงวด โดยใช้มาตรการทางกฎหมายห้ามเผาอย่างเด็ดขาด พร้อมกำหนดระยะเวลาควบคุมการเผาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรโดยการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทนการเผา อาทิ การไถกลบ การทำปุ๋ยหมัก การทำอาหารสัตว์
2. ใช้ข้อมูลตำแหน่งจุดความร้อน (Hotspot) เพื่อชี้เป้าและวางแผนปฏิบัติการรดับไฟป่าเป็นไปได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และทันท่วงที รวมถึงป้องกันไฟลุกลามขยายวงกว้างจนส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน ในกรณีเป็นพื้นที่ที่ปฏิบัติการภาคพื้นดินเข้าถึงได้ยาก ให้บูรณาการหน่วยงานที่มีอากาศยานเข้าสนับสนุนการปฏิบัติการดับไฟป่าทางอากาศ
3. ระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเข้าปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น การดับไฟป่า การช่วยเหลือเกษตรกรขนย้ายเศษวัสดุทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์อื่นแทนการเผา และการลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช่น ยานพาหนะที่มีควันดำ
4. ยกระดับมาตรการดูแลประชาชน โดยจัดหาหน้ากากอนามัยให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง พร้อมแนะนำวิธีปฏิบัติตนเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมถึงจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) หรือห้องปลอดฝุ่นไว้บริการประชาชน
5. เน้นลดผลกระทบจากฝุ่นที่มีผลต่อสุขภาพเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาและศูนย์เด็กเล็ก โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษาปรับรูปแบบการเรียนการสอนหรือปิดการเรียนการสอน กรณีเกิดวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่
6. สร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชน เครือข่ายอาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสา โดยประชาสัมพันธ์ข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ความจำเป็นในการควบคุมการเผา และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวด รวมถึงส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามมาตรการของภาครัฐให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
นายไชยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีวิกฤตไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้ควบคุมและสั่งการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผ่านกลไกเชิงพื้นที่โดยเร่งด่วนอย่างใกล้ชิดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ให้ปลอดภัยจากมลพิษด้านฝุ่นละออง