"อธิบดีอุทยานฯ" ชง ป.ป.ช.สอบปม "หมุดนิรนาม ส.ป.ก." โผล่เขาใหญ่
19 ก.พ. 2567, 10:19
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 จากกรณีข้อพิพาท “จุดหมุดนิรนาม ส.ป.ก.” ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หลังพบมีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตร โดยพบว่า มีหลักหมุด ส.ป.ก. ปักอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ต่อมามีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และสอบถามกลับไปยังสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา (ส.ป.ก.นครราชสีมา) ที่ดำเนินการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'ธรรมนัส'ขึ้นเขาใหญ่ หย่าศึกอุทยานฯ-ส.ป.ก.พิพาท'จุดหมุดนิรนาม'ในพื้นที่อุทยานฯ)
ล่าสุดนางพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ กล่าวว่า กรณีพิพาท “จุดหมุดนิรนาม ส.ป.ก. 4-01” ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หลังพบทีการบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อทำการเกษตร บริเวณใกล้เคียงถนนแนวกันไฟในหมู่บ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และรวมพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มีรูปแปลงของ ส.ป.ก.นครราชสีมา 72 แปลง รวมเนื้อที่ 2,933 ไร่ พบว่า มีหลักปักหมุด ส.ป.ก. ปักอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว
ต่อมาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบถามกลับไปยัง ส.ป.ก.นครราชสีมา ที่ดำเนินการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน มีความพยามยามอย่างเร่งรีบในการออกเอกสารสิทธิดังกล่าว โดยนับจากวันที่มีการยื่นหนังสือคัดค้านการปักหมุดจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ วันที่ 31 ต.ค.2566 ปรากฏหลักฐานหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ลงวันที่ 13 พ.ย.2566
ทั้งนี้ เนื่องจากสังคมมีข้อสงสัยในการกระทำดังกล่าว และมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบุกรุกพื้นที่บริเวณในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อย่างอุกอาจ มิเกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ประกอบกับเกรงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการเป็นมรดกโลกของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่นับวันจะมีปัญหาในหลายเรื่องทั้งการปลูกสร้างอาคาร ปัญหาสิ่งแวดล้อมปัญหาการสร้างเขื่อน เป็นต้น จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ที่รับผิดชอบในเรื่องให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าวนี้ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความกระจ่าง และหากเกิดการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มที่เข้าไปบุกรุก รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการลงโทษอย่างเฉียบขาดรวดเร็วและเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ด้านนายกิติศักดิ์ พรหมพินิจ ผู้ใหญ่บ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี พร้อมลูกเขย แจ้งว่า ส.ป.ก.นครราชสีมา ออกประกาศรายชื่อการคัดเลือกเกษตรกรให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2566 จำนวน 3 ราย 3 แปลง เนื้อที่ประมาณ 73-0-37 ไร่ และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 จำนวน 5 ราย 5 แปลง เนื้อที่ประมาณ 72-2-27 ไร่ โดยในครั้งที่ 2 ตนไม่ได้รับหนังสือจาก ส.ป.ก.นครราชสีมา ซึ่งตามประกาศดังกล่าวทั้ง 2 ครั้ง ไม่ได้ระบุตำแหน่งที่ตั้งของแปลง พร้อมทั้งให้ข้อมูลและยืนยันว่าบุคคลตามรายชื่อไม่ใช่ราษฎรที่อยู่อาศัย หรือเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในบริเวณท้องที่บ้านเหวปลากั้ง และพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีแนวถนนป่าไม้ลำลองเป็นแนวเขตอย่างชัดเจน ไม่มีบุคคลใดเข้าครอบครองทำประโยชน์มาก่อน
ขณะที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามพยานหลักฐานข้อเท็จจริง วันนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมเป็นสักขีพยาน ว่า สภาพพื้นที่เป็นอย่างไร รวมถึงพื้นที่รอบที่มีการวางแปลงไว้แล้ว จะต้องมีการดำเนินการอย่างไร ไม่ต้องมีอะไรหนักใจ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้แนวทางชัดเจนว่าให้ยึดหลักความถูกต้อง ที่ผ่านมามีการพูดคุยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาโดยตลอด ไม่ได้มีปัญหาหรือความขัดแย้งแต่อย่างใด อะไรที่ถูกต้อง ต้องอยู่ในแนวทางเดียวกัน ต้องอยู่ในกรอบระเบียบของกฎหมาย ปัญหาข้อขัดแย้งของการปฏิรูปที่ดินแห่งชาติ มีข้อกฎหมาย หลักเกณฑ์ ว่าด้วยเรื่องของการสำรวจ มีหลักเกณฑ์ผู้ที่ร่วมคุณสมบัติครอบครอง การทำประโยชน์ในพื้นที่ สามารถนำมาประกอบการพิจารณา
“ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน และ ป.ป.ช.ที่เข้ามาตรวจสอบ การปักหมุดของ ส.ป.ก. เนื้อที่กว่า 3,000 ไร่นั้น จะต้องมีการขยายผลเพิ่มเติม การดำเนินการเป็นไปตามระเบียบของกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ในส่วนของการดำเนินคดีในเรื่องของการบุกรุกแผ้วถาง ทำอันตรายต่อพื้นที่ป่า จะต้องไปดูกระบวนการหรือการวางแปลง มุ่งหวังที่จะให้มีการจัดที่ตรงนี้ เอาไปโดยถูกต้องหรือไม่ จะต้องมีการขยายผลทางกฎหมายอย่างแน่นอน” นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า การทำงานครั้งนี้ไม่มีอะไรอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างแน่นอน ซึ่งทางเรามีข้อมูลเชิงลึก แต่จะถูกต้องหรือไม่นั้น ต้องมีการตรวจสอบก่อน แต่จะต้องมีการกล่าวถึงผู้อยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอนว่ามีทุนจีนเข้ามาเอี่ยวหรือไม่ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ไม่มีการยอมความ เพราะเป็นคดีอาญา ในส่วนของประชาชนที่อยู่ในกรอบของกฎหมายไม่ต้องกังวล เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชน
ขณะที่ในส่วนของกฎหมายที่มีการทับซ้อนกันนั้น ทั้ง 2 กระทรวง ใช้ทั้ง 2 ฉบับ จะต้องมีการไล่ดูการครอบครองพื้นที่ ว่า พื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศในการอนุรักษ์มาก่อนมีพระราชกฤษฎีกา 2505 มีการซ่อมแนวรางวัดมาโดยตลอด พื้นที่จริงก็มีการปักหมุด รวมถึงหลักขนาดใหญ่ ซึ่งมีให้เห็นอยู่ ข้อกฎหมายในการประกาศปฏิรูปที่ดิน จะต้องมีการพูดคุยกัน ในส่วนของพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่ว่ามีการทำประโยชน์หรือไม่นั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า
ในส่วนของแนวเขตที่มีการทับซ้อนกันทั้ง 3 หน่วยงานไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ อุทยานฯ และ ส.ป.ก. จะต้องนำไปเข้าสู่กระบวนการของวันแมป (One Map) ไม่ได้ยึดแนวเขตมาเป็นข้อตัดสินว่าอันไหนถูกหรืออันไหนผิด จะต้องประกอบกันหลายอย่าง ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และคุณสมบัติผู้เข้ามาครอบครองที่ดิน
“ฝากถึงพี่น้องประชาชนไม่ต้องห่วง ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย พื้นที่มีการดูแลกันมานาน เจ้าหน้าที่ก็ช่วยกันตรวจสอบกันโดยตลอด รวมถึงกลุ่มอนุรักษ์ที่อยู่รอบเขาใหญ่ ขอบคุณที่มาเป็นกำลังใจในการตรวจสอบดูแล ทุกอย่างจะอยู่บนความถูกต้อง” นายอรรถพล กล่าว
สำหรับกรณีดังกล่าว เกิดขึ้นช่วงกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ลาดตระเวน และพบหลักหมุดของ ส.ป.ก. ที่เพิ่งนำมาปักในเขตอุทยานฯ จึงทำหนังสือทักท้วงไปที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา ให้ตรวจสอบ เพราะจุดที่ปักหมุดยังมีสภาพป่ายังสมบูรณ์ และมีร่องรอยการหากินของสัตว์ ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรมแต่อย่างใด จนนำไปสู่การวางแผนจับกลุ่มชาย 5 คน เข้าไปแผ้วถางป่า แต่ผู้ต้องหาได้นำเอกสาร ส.ป.ก.4-01 มาแสดงว่าเข้ามาทำกินในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างถูกต้อง ก่อนจะมีคนมาประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี กระทั่งต่อมาเกิดวิวาทะเดือดระหว่างนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กระทรวง ทส. กับทาง ส.ป.ก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์