สธ. ปั้น "ครู ก." ช่วยแก้หนี้รายบุคคล ให้ความรู้วางแผนการเงิน
29 ก.พ. 2567, 10:34
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินของพี่น้องประชาชนที่ยังคงเผชิญปัญหาหนี้เรื้อรังทั้งในระบบและนอกระบบ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย กระทรวงสาธารณสุข จึงเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้สินของบุคลากร โดยกำหนดเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร เนื่องจากเมื่อบุคลากรสาธารณสุขในฐานะผู้ให้บริการมีความสุขจะสามารถให้บริการที่ดี มีคุณภาพ และส่งต่อความสุขไปยังประชาชนผู้รับบริการ รวมถึงช่วยให้การบริการสุขภาพของไทยมีความยั่งยืน โดยการดำเนินงานในระยะแรก ได้รับความมือจากธนาคารออมสินในการให้สวัสดิการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับบุคลากร ช่วยแบ่งเบาความทุกข์ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของดอกเบี้ย สามารถนำเงินที่เหลือไปชำระหนี้ หรือใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตได้มากขึ้น เป็นการดูแลความเป็นอยู่ พัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินให้แก่บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการไปแล้ว 3,041 ราย วงเงิน 1,365.78 ล้านบาท
สำหรับการขับเคลื่อนระยะที่สอง กระทรวงสาธารณสุขได้รับความมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการหาแนวทางช่วยเหลือบุคลากรที่ประสบปัญหาหนี้ท่วมตัว โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหนี้เสีย (NPL) หนี้เรื้อรัง หนี้นอกระบบ โดยจะเข้ามาเป็นตัวกลางให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ครอบคลุมสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ต้องรู้จักและเข้าใจบริหารจัดการหนี้ให้ถูกต้อง ซึ่งผู้บริหารและผู้แทนจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมการประชุมในวันนี้ จะเป็นผู้ขับเคลื่อนแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) ดูแลสวัสดิการ สร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรในหน่วยงานของตนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อพี่น้องชาวสาธารณสุข ทุกคน ทุกระดับ ทุกสาขาวิชาชีพ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับธนาคารแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.สร้างครู ก. ต้นแบบการขับเคลื่อนแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) 2.เสริมสร้างความรู้ทางด้านการเงิน ตลอดจนการสร้างวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี 3.บูรณาการความร่วมมือเครือข่ายทางด้านการเงินระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้บริหารทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ และเกิดการขับเคลื่อนแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงินที่สอดคล้องกันทุกระดับ ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยจะมีการวางแผนแก้หนี้รายบุคคล การระดมสมองเพื่อจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้ภายในหน่วยงานด้วย