"สมศักดิ์" ชื่นชมหลักสูตร ป.ย.ป. นำเสนอการพัฒนาต้นแบบนโยบาย 5 ข้อ ตรงใจรัฐบาล
29 ก.พ. 2567, 15:09
วันนี้ ( 29 ก.พ.67 ) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนได้มีโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมหลักสูตร ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) โดยได้รับฟังผู้บริหารระดับสูงหลายกระทรวง นำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบาย จำนวน 5 เรื่อง คือ 1.การเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการมีงานทำ 2.การลดจำนวนผู้เสพยาเสพติดโดยใช้การบำบัดรักษาโดยชุมชนมีส่วนร่วม 3.การสร้างความเข้มแข็งแก้สถาบันเกษตรกร 4.การยกระดับอาหารไทย ให้เป็น Soft Power และ 5.การใช้ Soft Power เพื่อสร้างให้ประเทศไทย เป็นจุดหมายในการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อตนได้รับฟังรายงาน ก็ได้ชื่นชมทุกหน่วยงาน ที่ได้บูรณาการพัฒนาแนวนโยบาย ไปสู่การปฎิบัติ โดยจะเป็นประโยชน์กับประเทศ รวมถึงหลายเรื่องก็ตรงกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถือว่า ทุกภาคส่วนทำการบ้านมาดีมาก
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าอบรมหลักสูตร ป.ย.ป. จากประสบการณ์เป็นรัฐมนตรีหลายสมัย เช่น การแก้ปัญหาเข้าถึงการศึกษา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า เด็กไทย มีกลุ่มเสี่ยงที่จะออกนอกระบบการศึกษาถึง 1.8 ล้านคน ตนจึงมองว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งให้ความสำคัญ เพราะการส่งเสริมการศึกษา เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ซึ่งต้องทำให้การเรียนการสอนเข้าใจง่าย โดยจะช่วยทำให้นักเรียนอยากเรียนต่อ รวมถึงอยากให้ช่วยกันบูรณาการศึกษาถึงระยะเวลาการเรียนด้วย เพราะต่างประเทศ ใช้เวลาเรียนน้อยกว่าเรา ถ้าลดเวลาเรียนลงได้ ก็จะสามารถเอาเวลาไปพัฒนาด้านอื่นต่อได้
“ส่วนเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ผมได้ทำมาครบวงจรแล้ว ตั้งแต่เป็น รมว.ยุติธรรม ก็ได้ปราบปราม และปัจจุบัน ก็มาดูแลในเรื่องการบำบัดผู้ติดยาเสพติด ซึ่งงบประมาณการบำบัด ที่ผู้เข้าอบรมหลักสูตร ป.ย.ป. เสนอขอใช้งบประมาณจากกองทุนยาเสพติดนั้น ก็ถือเป็นทิศทางที่ดี เพราะกองทุนยาเสพติด ของ ป.ป.ส. มีเงินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จากปีละ 20 ล้านบาท แต่ปีนี้น่าจะมีเงินเข้ากองทุน 2,000 ล้านบาท เนื่องจากกฎหมายยาเสพติดใหม่ ได้เน้นยึดอายัดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติด ทำให้ผมมั่นใจว่า อีกสักระยะกองทุนยาเสพติด จะมีมูลค่ามากกว่ากองทุนอื่นๆ โดยจะสามารถนำเงินตรงนี้ กลับมาช่วยแก้ปัญหายาเสพติดได้ เช่น ผู้ที่ต้องบำบัด โดยหากเราทำต้นน้ำดี ผู้เสพรายใหม่ ก็จะไม่เกิดขึ้น” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการส่งเสริมเกษตรกร ตนให้ความสนใจปศุสัตว์เป็นพิเศษ เพราะมีราคาสูงกว่าพืช และสามารถเลี้ยงปศุสัตว์เป็นอาชีพเสริมได้ หลังจากมีเวลาว่างจากการทำไร่ทำนา แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า กระทรวงเกษตรฯ เน้นแต่กรมที่เกี่ยวกับพืช ซึ่งมีราคาถูก โดยมีกรมที่เกี่ยวกับปศุสัตว์ เพียง 2 กรมเท่านั้น ตนจึงอยากให้ความสำคัญกับปศุสัตว์ ซึ่งได้สนับสนุนมาตั้งแต่เป็น รมว.เกษตรฯ โดยในขณะนั้น นักวิชาการ ได้บอกว่า เมืองไทย ไม่สามารถขุนวัวให้เหมือนของต่างประเทศไทย เพราะต้องใช้อากาศหนาว แต่สุดท้าย ไม่สามารถหาที่อากาศหนาวเลี้ยงวัวได้ จึงขุนตามอากาศปกติ ซึ่งสรุปว่า สามารถขุนได้เนื้อเหมือนโกเบ ทำให้เกิดการส่งเสริมอาชีพต่อมาได้ ดังนั้น ตนจึงอยากสนับสนุนให้นำเทคโนโลยี และการพัฒนามาต่อยอดให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มมากขึ้น