"นกทึดทือมลายู” นักล่ายามราตรี ผู้น่ารัก แห่งป่าพรุคลองยวน
29 ก.พ. 2567, 18:01
นกทึดทือพันธุ์มลายู (Buffy Fish Owl) เป็นนกประจำถิ่น มีชื่อเรียกได้หลายชื่อตามท้องถิ่น คือ นกทึดทือมลายู หรือ นกเค้าแมวมลายู หรือ นกฮูกมลายู ทางภาคใต้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นกพิทิดพิที จัดอยู่ในวงศ์ STRIGIDAE มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ketupa ketupu เป็น 1 ใน 19 ชนิดของนกตระกูลนกเค้าในประเทศไทย
นกทึดทือมลายู เป็นนกเค้าแมวขนาดกลาง
มีความสูงประมาณ 49-50 เซนติเมตร ปีกสั้นกว่า 40 เซนติเมตร ดวงตาสีเหลืองจนถึงเหลืองแกมทอง มีขนเหนือคิ้วเป็นแผงยาวออกไปด้านข้างทั้งสองด้าน ส่วนขนบริเวณเหนือโคนปากเป็นสีขาว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลมีลายสีจางกระจาย ด้านล่างสีเนื้อแกมน้ำตาลเหลือง มีลายขีดสีดำ เมื่อหุบปีกจะเห็นลายแถบสีน้ำตาลจางสลับสีเข้มบริเวณปลายปีก ขาสีเขียว มีเล็บโค้งแหลม และมีปากงุ้มแหลม พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ลงไปตลอดแหลมมลายูจนถึงประเทศอินโดนีเซีย เกาะชวา และหมู่เกาะซุนดา ในประเทศไทย มักพบอาศัยอยู่ตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าพรุ และตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชอบจับสัตว์ขนาดเล็กกินเป็นอาหาร เช่น ปลา กบ ปู ค้างคาว นกชนิดอื่น รวมถึงสัตว์เลื้อยคลานเกือบทุกชนิด มักเกาะนอนตามต้นไม้ที่มีใบหนาทึบในป่าพรุเวลากลางวัน และออกหากินในเวลากลางคืน และมีฤดูผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน ทำรังอยู่ในโพรงไม้ หรือใช้รังเก่าของนกอื่น ๆ เป็นรัง ออกไข่ครั้งละ 1-3 ฟอง ลักษณะไข่มีเปลือกสีขาวและทรงกลม ตัวผู้จะเป็นฝ่ายส่งเสียงร้องเรียกตัวเมีย
ความลี้ลับ ของมันมักจะเกิดขึ้น เนื่องจากการออกมาโชว์ตัวเฉพาะกลางคืนเท่านั้น โดยมี
ดวงตากลมโตหันจับจ้องไปข้างหน้า ส่วนหัวของมันสามารถหันไปได้รอบตัว หูของนกกลุ่มนี้ก็รับรู้เสียงได้ไวมากเป็นพิเศษ อีกทั้งบางชนิดมีการส่งเสียงร้องที่แหลมเล็ก หรือการคำรามขู่ที่น่าสะพรึงกลัว พวกมันมีขนปีกอ่อนนุ่ม ชอบขยับปีกบินได้เงียบเชียบไม่ให้เหยื่อรู้ตัว แถมยังดูน่ากลัวแฝงอยู่ด้วย นี้คือ...เหตุผลที่มันมักอยู่ในเรื่องราวแปลกๆเหนือธรรมชาติเสมอ
แต่สำหรับที่นี่ ป่าพรุคลองยวน ในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์พนางตุง ซึ่งเป็นป่าพรุเสม็ดโบราณที่มีความสมบูรณ์ พบว่า มีนกทึดทือมลายูคู่หนึ่ง ใช้เป็นที่อยู่อาศัย แหล่งหากิน และแหล่งผสมพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนประชากร โดยในช่วงปกติ นักศึกษาธรรมชาติ สามารถพบเห็นนกชนิดนี้ ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ แต่ต้องใช้การสังเกตที่มากพอสมควร เพราะเขาจะซ่อนตัวในพุ่มต้นเสม็ด สำหรับในช่วงผสมพันธุ์และทำรังวางไข่ ระหว่างเดือนธันวาคม – มกราคม
นกทึดทือมลายูคู่นี้ จะมาทำรังและฟักลูกอ่อน ในกอกล้วยไม้กะเรกะร่อนปากเป็ดบนต้นเสม็ดขาว ริมสระน้ำ ด้านข้างสำนักงานสวนพฤกษศาสตร์พนางตุง ทุกวันเพศผู้จะเกาะอยู่ด้านข้างบริเวณรัง เฝ้าดูความปลอดภัย และหาอาหารให้เพศเมีย ส่วนเพศเมียจะทำหน้าที่ฟักไข่ ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือน และจะเลี้ยงดูลูกอ่อน จนถึงเดือน มีนาคม ในแต่ละปีการขยายพันธุ์จะประสบความสำเร็จได้ลูกอ่อนปีละ 2-3 ตัว บางปีอาจประสบความล้มเหลวจากศัตรูที่มาทำลายไข่ แต่นกทึดทือมลายูคู่นี้ ไม่เคยท้อถอย จะมาทำรังวางไข่เป็นประจำทุกปี นักศึกษาธรรมชาติสามารถมาถ่ายภาพ และดูพฤติกรรมที่น่ารักของนกทึดทือมลายูคู่นี้ได้ ในทุกช่วงของฤดูผสมพันธุ์ ปัจจุบัน นกทึดทือพันธุ์มลายู จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 The IUCN Red List of Threatened Species จัดอยู่ในกลุ่ม Least Concern (LC) : เป็นกังวลน้อยที่สุด ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่ยังไม่ถูกคุกคามและพบเห็นได้ทั่วไป
ที่มา : กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา)