เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กทม.กางมาตรการเข้มรองรับคลื่นความร้อน บูรณาการทุกส่วนดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยง


7 มี.ค. 2567, 16:09



กทม.กางมาตรการเข้มรองรับคลื่นความร้อน บูรณาการทุกส่วนดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยง




วันนี้ ( 7 มี.ค.67 ) นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ด้วยกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 และสิ้นสุดฤดูร้อนช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 โดยคาดการณ์ว่าจะมีอุณหภูมิจะสูงสุด 44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนจัดดังกล่าว อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงเนื่องจากภาวะด้านสุขภาพ ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน รวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่ออกกำลังกาย หรือการทำงานใช้แรงงานอย่างหนักท่ามกลางอากาศที่ร้อน ส่วนใหญ่พบในคนหนุ่มสาวที่มีร่างกายแข็งแรง เช่น นักกีฬา คนงาน ทหาร เป็นต้น 

กรุงเทพมหานคร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักเทศกิจ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักงานเขต 50 เขต สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรมอุตุนิยมวิทยา บูรณาการจัดทำแผนและวางมาตรการเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 ดังนี้ 1.มาตรการดำเนินการตลอดทั้งปี จัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานสำหรับเจ้าหน้าที่และประชาชน รวมทั้งจัดทำสื่อและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เพื่อเตรียมแจกจ่ายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงชี้แจงการดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสื่อสารความเข้าใจแก่ประชาชน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์เป็นระยะ ด้านป้องกันสุขภาพอนามัยของประชาชน ได้แก่ 

1.พัฒนาขีดความสามารถเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข(อสส.) ประจำชุมชน เจ้าหน้าที่ประจำสวนสาธารณะ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์กีฬา เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เด็กเล็ก ครู และเทศกิจ เพื่อสร้างความรู้และทักษะในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนให้แก่ประชาชน 2.เตรียมความพร้อมในการดูแลกลุ่มเสี่ยง โดยสำรวจและจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงสำคัญ สำหรับวางแผนการดำเนินงานการสื่อสารแจ้งเตือน การดูแลและสนับสนุนอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ในการป้องกันสุขภาพ และการติดตามเฝ้าระวังอาการในช่วงวิกฤต สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ อสส. รวมถึงแกนนำกลุ่มวัยต่างๆ ในชุมชน เพื่อเป็นแกนนำในการให้คำแนะนำและดูแลกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ประสานขอความร่วมมือโรงเรียนสังกัด สพฐ. และเอกชน 3.เตรียมความพร้อมของระบบบริการสาธารณสุข ทั้งจัดเตรียมยาเวชภัณฑ์ รวมถึงการจัดเตรียมศูนย์คลายร้อนในสถานพยาบาล 4.เฝ้าระวังสถานการณ์การเจ็บป่วยจากความร้อน และรายงานผู้ป่วยที่มารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกสัปดาห์ 5.เตรียมความพร้อมของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center: PHEOC) กรณีความร้อน จัดทำแผนปฏิบัติการฯ และหากค่าอุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 43.1 องศาเซลเซียส 

ด้านลดอุณหภูมิเมือง ได้แก่ 1.เพิ่มพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ล้านต้น สวน 15 นาที 2.สร้างช่องเปิดให้อาคาร การออกแบบให้อาคารหรือตึกสูงมีความพรุนเพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างช่องเปิดในตัวอาคารให้เพียงพอทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง เพื่อใช้ประโยชน์จากสภาพอากาศและการไหลของอากาศในภูมิภาค พัฒนาเส้นทางลมที่เหมาะสมเข้าสู่เขตเมือง และขจัดความร้อนสะสมในเมือง 3.เติมน้ำให้กับพื้นที่เมือง การออกแบบให้สามารถคงแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมภายในเมือง และสร้างการขยายตัวของแหล่งน้ำขนาดเล็กและพื้นที่รับน้ำอย่างเพียงพอ 4.เปลี่ยนวัสดุพื้นผิวให้ระบายความร้อน เพิ่มระบบระบายความร้อนด้วยน้ำให้กับตัวอาคาร เช่น Cooling Facade System หรือ District Cooling System ซึ่งเป็นการใช้ระบบน้ำภายในหล่อเย็นตัวอาคารเพื่อถ่ายเทความร้อนออกไปภายนอกอาคาร 

2. มาตรการระยะวิกฤต ดำเนินการเฝ้าระวัง เตือนภัยสถานการณ์ในพื้นที่มีปัญหาความร้อนให้แก่ประชาชนให้รับทราบ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ ระดับ/ดัชนีความร้อน เฝ้าระวัง อุณหภูมิ 27.0-32.9 องศาเซลเซียส โดยติดตามตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์ความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ด้านการป้องกันสุขภาพอนามัยของประชาชน ดำเนินงานเฝ้าระวังเตือนภัยสุขภาพในพื้นที่มีปัญหาความร้อนให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำหนดบทบาทหน้าที่แต่ละหน่วยในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหา กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งนี้ ดัชนีความร้อน (Heat Index) คือ อุณหภูมิที่ร่างกายคนเรารู้สึกตามความสัมพันธ์กันระหว่างอุณหภูมิและความชื้น กล่าวคืออุณหภูมิที่มนุษย์รู้สึกได้ว่าสภาวะอากาศ ขณะนั้นร้อนหรือเย็น ซึ่งไม่ตรงกันกับอุณหภูมิที่เกิดขึ้น แต่รวมถึงความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ เช่น หากอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส แต่มีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 60% ในดัชนีความร้อนนี้ เราจะรู้สึกว่าอยู่ในอุณหภูมิถึง 56 องศาเซลเซียส 

ระดับ/ดัชนีความร้อน เตือนภัย อุณหภูมิ 33.0-41.9 องศาเซลเซียส 1.ติดตามตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์ความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์ความร้อนให้ประชาชนทราบทุกวัน ผ่านช่องทางการรายงาน เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก pr-bangkok สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ป้ายจราจรอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ป้ายบนรถไฟฟ้า BTS โดยมีความถี่ของการรายงานและแจ้งเตือนวันละ 1 ครั้ง เวลา 07.00 น. 2.รายงานข้อมูลการคาดการณ์สถานการณ์ความร้อน 7 วันล่วงหน้า ของกรมอุตุนิยมวิทยา ปรับปรุงข้อมูลเป็นประจำทุกวันในรูปแบบอินโฟกราฟฟิกที่เข้าใจง่าย ด้านการป้องกันสุขภาพอนามัยของประชาชน 1.ให้ความรู้แก่ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยและผู้ดูแลผู้สูงอายุ และแจ้งสถาบันพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุดูแลกลุ่มเสี่ยง 2.สถานพยาบาลเตรียมระบบส่งต่อผู้ป่วย เตรียมศูนย์คลายร้อน (cool room) ซึ่งห้องอาคารหรือสถานที่ส่วนบุคคลที่มีการปรับอากาศและระบายอากาศได้ดี สามารถใช้เป็นที่พักชั่วคราว สำหรับผู้รับบริการและประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยเหลือป้องกันและบรรเทาความร้อน อันเนื่องมาจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัดได้ 

ระดับ/ดัชนีความร้อน อันตราย อุณหภูมิ 42.0-51.9 องศาเซลเซียส 1.ติดตามตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์ความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์ความร้อนให้ประชาชนทราบทุกวัน โดยมีความถี่ของการรายงานและแจ้งเตือนวันละ 2 ครั้ง เวลา 07.00 และเวลา 11.00 น. 2.รายงานข้อมูลการคาดการณ์สถานการณ์ความร้อน 7 วันล่วงหน้า ของกรมอุตุนิยมวิทยา ปรับปรุงข้อมูลเป็นประจำทุกวันในรูปแบบอินโฟกราฟฟิกที่เข้าใจง่าย ด้านการป้องกันสุขภาพอนามัยของประชาชน 1.กำหนดแนวทางการรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด รวมถึงให้ความรู้คำแนะนำการดูแลป้องกันตนเองกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ดังนี้ 1.1 เด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบ อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในรถที่จอดตากแดดตามลำพังโดยเด็ดขาด ซึ่งรถที่จอดตากแดด โดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ อาจมีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส ได้ภายใน 20 นาที สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน และระบายความร้อนได้ดี หากอากาศร้อนจัด ควรหลีกเลี่ยงการนำเด็กออกนอกบ้าน เนื่องจากเด็กจะเจ็บป่วยง่ายกว่าผู้ใหญ่ 1.2 ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ในระหว่างวัน ในช่วงที่อากาศร้อนควรอยู่ในบ้านพักหรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรเปิดพัดลมแบบจ่อตัวในขณะที่อากาศร้อนมาก เพราะพัดลมจะดูดความร้อนเข้ามาหาตัว ควรเปิดพัดลมแบบส่ายและเปิดหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศร้อน สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อนและมีน้ำหนักเบา อาบน้ำบ่อยๆ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย 

1.3 ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ในระหว่างวัน ในช่วงที่อากาศร้อนควรอยู่ในบ้านพักหรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อนและมีน้ำหนักเบา อาบน้ำบ่อยๆ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย ควรมีหมายเลขโทรศัพท์ของสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือติดต่อ สายด่วน 1669 1.4 หญิงตั้งครรภ์ ดื่มน้ำสะอาด 2-4 แก้วต่อชั่วโมง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบริเวณลำคอ ศีรษะ ลำตัว เพื่อลดอุณหภูมิ หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในช่วงที่ร้อนจัด และอยู่ในสถานที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี ควรเปิดพัดลมแบบส่าย และเปิดหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศที่ร้อน หากมีอาการตัวร้อนมาก หน้ามืด อ่อนเพลีย ให้พักในที่ร่ม เพื่อทำให้ร่างกายเย็นลง หากไม่ดีขึ้นภายใน 30 นาที ให้รีบพบแพทย์ 1.5 ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ในระหว่างที่ทำงาน เปลี่ยนตารางเวลาทำงานกลางแจ้ง โดยเริ่มทำงานในช่วงเช้าหรือช่วงสาย หลีกเลี่ยงการทำงานในช่วงเที่ยงวัน ให้สลับเข้าพักในที่ร่ม โดยทำงาน 2 ชั่วโมง พัก 30 นาที สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งลง สวมใส่ชุดออกกำลังกายที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น 2.สถานพยาบาล ปรับตารางนัดผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นในช่วงที่อากาศร้อนจัด จัดให้มีศูนย์คลายร้อน (cool room) และเตรียมความพร้อมของระบบ ส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน 3.อสส. ออกเยี่ยมบ้านติดตามอาการของประชาชนกลุ่มเสี่ยง ให้ความรู้และคำแนะนำการดูแลป้องกันตนเองแก่ประชาชน และรายงานสถานการณ์ ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ 

ระดับ/ดัชนีความร้อน อันตรายมาก อุณหภูมิตั้งแต่ 52.0 องศาเซลเซียส 1.ติดตามตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์ความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์ความร้อนให้ประชาชนทราบทุกวัน โดยมีความถี่ของการรายงานและแจ้งเตือนวันละ 3 ครั้ง เวลา 07.00 น. เวลา 11.00 น. และเวลา 15.00 น. 2.รายงานข้อมูลการคาดการณ์สถานการณ์ความร้อน 7 วันล่วงหน้า ของกรมอุตุนิยมวิทยา ด้านการป้องกันสุขภาพอนามัยของประชาชน 1.กำหนดแนวทางการรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด รวมถึงให้ความรู้คำแนะนำการดูแลป้องกันตนเองกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ดังนี้ 1.1 เด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบ อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในรถที่จอดตากแดดตามลำพังโดยเด็ดขาด สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน และระบายความร้อนได้ดี ดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กจะเจ็บป่วยง่ายกว่าผู้ใหญ่ 1.2 ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ในระหว่างวัน ในช่วงที่อากาศร้อนควรอยู่ในบ้านพักหรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรเปิดพัดลมแบบส่าย และเปิดหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศร้อน สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน และมีน้ำหนักเบา อาบน้ำบ่อยๆ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย 

1.3 ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ในระหว่างวัน ในช่วงที่อากาศร้อนควรอยู่ในบ้านพักหรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน และมีน้ำหนักเบา อาบน้ำบ่อยๆ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย 1.4 หญิงตั้งครรภ์ ดื่มน้ำสะอาด 2-4 แก้วต่อชั่วโมง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบริเวณลำคอ ศีรษะ ลำตัว เพื่อลดอุณหภูมิ หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในช่วงที่ร้อนจัด ควรเปิดพัดลมแบบส่าย และเปิดหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศที่ร้อน หากมีอาการตัวร้อนมาก หน้ามืด อ่อนเพลีย ให้พักในที่ร่ม หากไม่ดีขึ้นภายใน 30 นาที ให้รีบพบแพทย์ 1.5 ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ในระหว่างที่ทำงาน เปลี่ยนตารางเวลาทำงานกลางแจ้ง โดยเริ่มทำงานในช่วงเช้าหรือช่วงสาย หลีกเลี่ยงการทำงานในช่วงเที่ยงวัน สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี 1.6 ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งลง สวมใส่ชุดออกกำลังกายที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลานานในช่วงที่อากาศร้อนจัด ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น 2.จัดตั้งหน่วยบริการสุขภาพประชาชน และเตรียมความพร้อมของระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน 3.สถานพยาบาลยกเลิกนัดผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นในช่วงที่อากาศร้อนจัด จัดศูนย์คลายร้อน (cool room) ให้พร้อมใช้และให้ประชาชนเข้าพักชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัดและเตรียมความพร้อมของระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน 4.แพทย์และ อสส. ออกเยี่ยมบ้านติดตามอาการของประชาชนกลุ่มเสี่ยง ให้ความรู้และคำแนะนำการดูแลป้องกันตนเองแก่ประชาชน









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.