มท.1 ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มอบแนวทาง 5 ข้อ มุ่งยกระดับจากเมืองรองสู่เมืองหลัก
8 มี.ค. 2567, 16:10
วันนี้ ( 8 มี.ค.67 ) เวลา 10.30 น. ที่หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนมักจะพูดเสมอ ว่าจังหวัดศรีสะเกษได้ “มาไกล” มากแล้วจากภาพจำเดิม ๆ ล่าสุดตนได้รับรายงานว่า จังหวัดศรีสะเกษมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 78,658 ล้านบาท ประชาชนมีรายได้เฉลี่ย 83,332 บาท ต่อคนต่อปี เป็นอันดับ 1 ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 แต่เราจะไม่หยุดอยู่เท่านี้แน่ ๆ ยังมี Room for Growth หรือศักยภาพสำหรับการเติบโตอีกมากสำหรับจังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยว
"ตนขอเน้นย้ำนโยบายสำคัญ นอกเหนือจากนโยบายหลัก 11 ประการ ที่ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม คือ
1) การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามกลไกที่เราวางไว้ โดยเฉพาะโครงการตลาดนัดแก้หนี้ ถ้ายังมีความต้องการก็ขอให้ดำเนินการต่อไปตามความเหมาะสม
2) การจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิพล ต้อง “การ์ดไม่ตก” ทั้งเรื่องอบายมุข บ่อน ผับ บาร์ การค้ามนุษย์ อาวุธปืน การรีดไถ และพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ของผู้มีอิทธิพล ซึ่งล่าสุดตนได้ลงนามในร่างพระราชกำหนด “เว้นความผิดอาญาผู้นำส่งปืนเถื่อน” แล้ว ซึ่งจะเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ครอบครองปืนเถื่อน โดยมีจุดประสงค์ให้คนที่มีปืนเถื่อนอยู่เอามามอบให้กับทางราชการในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการเก็บกวาดปืนเถื่อนได้มากในคราวเดียวกัน หากพระราชกำหนดประกาศแล้ว ขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
3) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมกันลด Demand และ Supply ของยาเสพติด โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของหมู่บ้าน/ชุมชน ในการสร้างภูมิคุ้มกัน เฝ้าระวัง และให้การช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติดให้ได้รับการรักษา สร้างความร่วมมือกับประชาชนให้ร่วมเป็นพันธมิตรในการทำสงครามกับยาเสพติด ซึ่งตนทราบว่าจังหวัดศรีสะเกษดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังอยู่แล้ว ในรูปแบบเขินโมเดล และยุทธการ 238 พิทักษ์นครลำดวน
4) การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2567 โดยให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ให้ทราบแผนเผชิญเหตุ และมีความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ
5) การพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความยากจน ที่ถือเป็นหน้าที่ของเราในการส่งเสริมสนับสนุนศักยภาพที่มีอยู่ในจังหวัด ให้เกิดการต่อยอดสู่การสร้างรายได้ พูดง่าย ๆ ว่ามีของดีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ ก็ต้องค้นหาให้เจอ เลือกมาพัฒนา แล้วหาช่องทางการตลาด โปรโมตให้เป็นที่รับรู้ โดยต้องประสานกับภาคเอกชน เพื่อให้เข้าใจแนวโน้มของตลาดและสิ่งที่ขาดไป ภาครัฐถือเป็นฝ่ายสนับสนุน เราจะต้องฟังให้มาก ฟังให้ลึก และรู้ให้กว้าง เพื่อส่งเสริมกันได้ถูกจุด
"กระทรวงมหาดไทยพร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันการเปิดจุดผ่อนปรนการท่องเที่ยวเขาพระวิหารในระดับนโยบาย ซึ่งจะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยว และเป็นส่วนหนึ่งที่จะยกระดับศรีสะเกษจากเมืองรองสู่เมืองหลักต่อไป และขอให้พวกเราทุกคนได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายให้จังหวัดศรีสะเกษก้าวสู่ความความเจริญในอีกระดับ และมีแรงดึงดูดจากทั้งมรดกทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ที่ทันสมัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน" นายอนุทินฯ กล่าวเพิ่มเติม