ผู้แทนการค้าไทย หารือทูตโมร็อกโก เสนอจัดคณะกรรมการร่วมด้านการค้าครั้งที่ 1
8 มี.ค. 2567, 16:16
วันนี้ ( 8 มี.ค.67 ) ดร. นลินี ทวีสิน พบทูตโมร็อกโก ส่งเสริมความร่วมมือด้านเกษตร อุตสาหกรรม และฮาลาล หาแนวทางพัฒนา Soft Power ร่วมกัน เสนอจัดประชุม JTC ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และในโอกาสเดียวกันจะเป็นโอกาสในการพบปะกันของภาคเอกชนสองประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ รวมทั้งโอกาสในการจับคู่ธุรกิจ ชูการเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียนของไทย และประตูสู่แอฟริกาของโมร็อกโก
ดร. นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยภายหลังจากการหารือร่วมกับนายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโกประจำประเทศไทย ว่าตนและท่านทูตเห็นพ้องว่า ไทยและโมร็อกโกมีโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมืออีกมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ตนยังได้เสนอให้ไทยและโมร็อกโก พัฒนาความร่วมมือด้านฮาลาล โดยอาศัยความชำนาญด้านมาตรฐานและการรับรองฮาลาลของโมร็อกโก ในขณะที่ใช้ความชำนาญด้านการผลิตและแปรรูปอาหารของไทย ตนและท่านทูตยังเห็นพ้องว่าไทยและโมร็อกโกมีโอกาสในการพัฒนา Soft Power ร่วมกันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของวัฒนธรรม ศิลปะ แฟชั่น รวมถึงกีฬา ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และสามารถส่งเสริมกันได้เป็นอย่างดี
ผู้แทนการค้าไทย เสริมว่า ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ครั้งที่ 1 โดยเห็นพ้องว่าการประชุม JTC นี้จะเป็นโอกาสดีในการหารือแนวทางกระชับความสัมพันธ์ทาง เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นโอกาสของทั้งสองฝ่ายที่จะแลกเปลี่ยน ข้อมูลด้านการค้า กฎระเบียบ ตลอดจนหาแนวทางในการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน และยังเป็นโอกาสในการพบปะกันของภาคเอกชนสองประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ รวมทั้งโอกาสในการจับคู่ธุรกิจ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาวันที่เหมาะสมและระดับหัวหน้าคณะที่เหมาะสมสำหรับการประชุม JTC ครั้งที่ 1 ต่อไป
ไทยและโมร็อกโกมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้าและมีโอกาสขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันได้อีกมาก โดยโมร็อกโกสามารถเป็นประตูการค้าของไทยไปสู่แอฟริกาและประเทศอื่น ๆ ที่โมร็อกโกมีข้อตกลงการค้าเสรีอยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน ไทยสามารถเป็นประตูการค้าสู่อาเซียนและประเทศในเอเชียตะวันออกให้กับโมร็อกโก ผ่านการใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ที่ไทยมีทั้งหมด 14 ฉบับ กับคู่ภาคี 18 ประเทศ ดร. นลินี กล่าวทิ้งท้าย