ไม่เกิน 10 ปี คาดอนาคตรถไฟความเร็วสูงไปถึงเชียงใหม่
13 มิ.ย. 2562, 13:55
ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย( รฟท.)แจ้งว่า โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก) ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนเจรจาและศึกษารูปแบบที่เหมาะสม ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งการดำเนินงานจะพิจารณา ตามหลักเกณฑ์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการ รฟท.ยืนยันว่า ปัจจุบัน การคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทํางานด้านเทคนิคขับเคลื่อนโครงการนี้ ซึ่งทางญี่ปุ่นได้ส่งรายงานศึกษาความเหมาะสมมาให้รัฐบาลไทยพิจารณาแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป
รายงาน รฟท.ยังกล่าวถึงผลการศึกษาประโยชน์จากโครงการนี้ว่ามีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า 12% เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่เนื่องจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟเป็นบริการสาธารณะ โดยทั่วไปรัฐฯจะรับภาระเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกับ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟไทย-จีน และโครงการรถไฟชานเมือง ดังนั้น ภาระหนี้จึงไม่ได้ปรากฏในงบการเงินของรฟท
อย่างไรก็ตามการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของไทยทั้ง 4 สายทางนั้น เป็นบริการพื้นฐานแห่งรัฐฯที่ รฟท.ตระหนักในบทบาท ความรับผิดชอบ จึงวางแผนดำเนินการ ดังนี้ ระยะเร่งด่วน 4 เส้นทาง ความยาว 1,208 กม.เช่น ช่วงกทม.-นครราชสีมา, กทม.-พิษณุโลก แผนระยะกลาง 499 กม.2 สายทาง เช่น ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนระยะยาว 759 กม. มี 1 เส้นทางคือ จากหัวหิน-เปดังเบซาร์ ตามแผนระยะกลางช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ 288 กม. ความเร็วระดับ 200-250 กม./ชม. ออกเดินทางทุก 90 นาที ใช้เวลาเดินทาง 55 นาที มี 5 สถานี วงเงินลงทุนราวๆ 232,411 บาท คาดว่าจะให้บริการได้ในปี 2572 ผลการศึกษาโครงการอยู่ในขั้นตอนทบทวนความเหมาะสม
ส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟในระบบรางคู่และสายใหม่ ยังคงเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ เช่นรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 325 กม. สถานะล่าสุดอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารประกวดราคา นอกจากนั้นแผนพัฒนาที่ดินของรฟท. ทั่วประเทศในทำเลมีศักยภาพสูง ก็ต้องรอขั้นตอน การตั้งหน่วยงานบริหารสินทรัพย์ ผ่านกระบวนการต่างๆจนครบถ้วนก็จะเร่งดำเนนโครงการตามที่กำหนดไว้ต่อไป รวมถึงพื้นที่หน้าสถานีเชียงใหม่ด้วย ซึ่งเป็น 1 ใน 25 ทำเลทองของรฟท.ที่วางแผนพัฒนาในรูปแบบเปิดร่วมทุน