"พิพัฒน์" วางทีมแรงงานญี่ปุ่นใหม่ มิ.ย. นี้ รุกส่งออกเพิ่ม 12 อาชีพ
12 เม.ย. 2567, 13:53
เมื่้อวันที่ ( 11 เม.ย.67 ) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะพบปะเยี่ยมเยียนอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) พร้อมเป็นประธานในพิธีมอบประกาศเกียรติคุณและเข็มเชิดชูเกียรติแก่อาสาสมัครแรงงานในประเทศญี่ปุ่นดีเด่นปี 2566 และ ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ ไหว้พระขอพร รดน้ำดำหัวอย่างอบอุ่น โดยมี นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน นางปรางทิพย์ กาญจนหัตถกิจ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว นางสาวสดุดี กิตติสุวรรณ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น ร่วมเป็นเกียรติ ณ หอประชุม สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ผมและคณะได้มาพบปะกับอาสาสมัครแรงงานทุกท่าน เพื่อแสดงความขอบคุณที่ได้ให้ความช่วยเหลือดูแลแรงงาน ปฏิบัติภารกิจด้านการคุ้มครอง ดูแลความเป็นอยู่ และขยายตลาดหางานให้แรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่นของกระทรวงแรงงานและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว บรรลุวัตถุประสงค์
“ผมขอขอบคุณอาสาสมัครแรงงานทุกท่านที่ได้ช่วยขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงแรงงานทุ่มเท เสียสละ ช่วยเหลือภารกิจของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว และสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างดี และขอแสดงความยินดีกับคุณแสงเดือน อะราอิ อาสาสมัครแรงงานประเทศญี่ปุ่น ดีเด่นปี 2566 ซึ่งจากการเสวนาพูดคุย ได้ทราบปัญหาและความต้องการของทุกท่าน ซึ่งผมยินดีรับข้อหารือ ที่จะเสวนากับอาสาสมัครแรงงานทั่วโลกทุกท่าน เพื่อสามารถทำงานในเชิงรุก และกระทรวงแรงงานสนับสนุน ให้ขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงแรงงานอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าว
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ขอขอบคุณท่านอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว และทีมงานที่ให้การต้อนรับผมและคณะเป็นอย่างดี รวมถึงขอขอบคุณอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่ ที่ได้เป็นฟันเฟืองร่วมกันในการดูแลแรงงานไทย ซึ่งในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการวางเจ้าหน้าที่อัครราชทูตที่ปรึกษา( ฝ่ายแรงงาน ) จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ ที่ปรึกษา ( ฝ่านแรงงาน) จากกรมการจัดหางาน ทำให้เป็นแม่ทัพในการดันแรงงานไทย ให้ได้มีโอกาสมาทำงานในประเทศญี่ปุ่น เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ที่มั่นคง ช่วยยกระดับฐานะแก่ครอบครัวของแรงงาน รวมถึงเป็นการช่วยพัฒนาทักษะฝีมือ ตลอดจนประสบการณ์ทำงานของแรงงานเพื่อให้สามารถนำกลับมาต่อยอดในการประกอบอาชีพในประเทศไทยได้ในอนาคต
ทั้งนี้ทางกระทรวงแรงงานเข้าร่วมนโยบายวีซ่าทักษะเฉพาะ (Specified Skilled Worker: SSW Visa) 12 สาขาอาชีพ (ประกอบด้วย 1.การบริบาล 2.การจัดการความสะอาดอาคาร 3. งานผลิตขึ้นส่วนเครื่องจักรและเครื่องมืออุตสาหกรรม/งานอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล/งานไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และข้อมูลด้านอุตสาหกรรม 4.อุตสาหกรรมก่อสร้าง 5.การต่อเรือและอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเรือ 6.การซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ 7.อุตสาหกรรมการบิน 8.อุตสาหกรรมที่พักอาศัย 9.งานเกษตรกรรม 10.ประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 11.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 12.อุตสาหกรรมการบริการอาหาร) โดยเชื่อว่าจะสร้างโอกาสการมีงานทำให้กับกลุ่มผู้ฝึกปฏิบัติงานเดิมและผู้ฝึกปฏิบัติงานใหม่ ให้ได้ปรับเปลี่ยนสถานะตนเองเป็นแรงงานที่มีทักษะเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ สามารถต่อยอดและขยายตลาดแรงงานกลุ่มแรงงานทักษะเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นต่อไป