รวบตัว ! "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" แฝงตัวฟอกเงินในไทย พบเงินหมุนเวียนกว่า 7 หมื่นล้านบาท
29 เม.ย. 2567, 12:08
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ทำการจับกุมคดีสำคัญซึ่งเกี่ยวกับขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่หลอกลวงประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อน
คดีแรก ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รวบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้ Elite visa แฝงตัวฟอกเงินในไทย พบเงินหมุนเวียนกว่า 7 หมื่นล้านบาท จับกุม MR.CHEN อายุ 32 ปี โดยจับกุมได้ที่ บ้านหรูแห่งหนึ่ง ย่านถนนราชพฤกษ์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ และ นายอนันต์ อายุ 44 ปี โดยจับกุมได้ที่ อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงทราฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบ และร่วมกันฟอกเงิน” โดยของกลางที่ตรวจยึดได้ เงินสดประมาณ 11 ล้านบาท, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (PC) จำนวน 2 เครื่อง, โทรศัพท์ จำนวน 7 เครื่อง, สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 8 เล่ม, บัตรกดเงินสด (ATM)-บัตรเครดิต จำนวน 13 ใบ, รถยนต์ จำนวน 5 คัน เครื่องนับเงินสด จำนวน 1 เครื่อง และทรัพย์สินอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 42 ล้านบาท
สืบเนื่องจาก เมื่อประมาณเดือน พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. ได้มีการจับกุมกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีการสร้างเว็บไซต์กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ปลอมขึ้นมา เพื่อหลอกลวงผู้เสียหายที่เคยโดนมิจฉาชีพหลอกเอาเงินไป ซึ่งเหมือนเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนผู้เสียหาย โดยกลุ่มคนร้ายที่ปลอมเว็บไซต์ CIB นี้ขึ้นมา จะสร้างความน่าเชื่อถือกับผู้เสียหายว่า สามารถติดตามเงินคืนกลับมาให้ผู้เสียหายได้ ก่อนที่จะหลอกเอาเงินผู้เสียหายซ้ำอีกครั้ง
โดยต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. ได้สืบสวนติดตามจับกุมขบวนการดังกล่าว โดยร่วมกันตรวจค้น 9 จุด เป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร , นนทบุรี , สมุทรสาคร , เชียงราย , สุราษฎร์ธานี และสระแก้ว ขณะนั้นจับกุมผู้ต้องหาได้ 5 ราย ในจำนวนนี้มี 4 รายที่ทำหน้าที่ในการฟอกเงิน และอีก 1 รายเป็นโปรแกรมเมอร์ มาดำเนินคดีตามกฎหมาย
สอบสวน MR.CHEN ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่จากการสืบสวนพบว่า ผู้ต้องหามีหน้าที่ในการบริหารจัดการกระเป๋าดิจิทัลให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยโทรศัพท์มือถือที่ตรวจยึดได้จาก MR.CHEN มีการใช้แอปพลิเคชันหนึ่งในการบริหารจัดการกระเป๋าดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนหลายใบ มียอดเงินหมุนเวียนของกระเป๋ารวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยกระเป๋าดิจิทัลเหล่านี้ พบว่าเป็นกระเป๋าที่ตรงกันกับ ที่ได้มีการเข้าแจ้งความไว้ในระบบรับแจ้งความออนไลน์ มากกว่า 30 คดี โดยมีพฤติการณ์การก่อเหตุ ดังต่อไปนี้ 1.) หลอกทำงานออนไลน์ 2.) ข่มขู่ผู้เสียหายว่าจะถูกดำเนินคดี 3.) หลอกลงทุนเงินดิจิทัล-หุ้น 4.) หลอกเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าหรือเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง หลอกลงแอปพลิเคชันดูดเงิน 5.)หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งผู้เสียหายกำลังถูกแฮ็กบัญชีธนาคารให้ผู้เสียหายโยกเงินไปเก็บไว้ที่ปลอดภัย ฯลฯ
อีกทั้ง MR.CHEN ผู้ต้องหารายนี้ ยังมีหน้าที่ฟอกเงินโดยแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิตอลเป็นเงินสกุลต่างๆ ให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีฐานปฏิบัติการในประเทศกัมพูชา อีกทั้งตัวของ MR.CHEN ได้ใช้ชื่อของบุคคลอื่น (สัญชาติไทย) ในการทำธุรกรรมเพื่อซื้อและถือครองทรัพย์สินหลายรายการด้วยเงินสด อาทิเช่น บ้านเดี่ยว 2 ชั้น, ที่ดิน, รถยนต์และทรัพย์สินมีค่าเครื่องประดับ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบวีซ่าของ MR.CHEN พบว่าเป็น วีซ่าประเภท อีลิท การ์ด แพคเกจแบบ 5 ปี และในวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม MR.CHEN พบภรรยาสัญชาติจีนของ MR.CHEN พักอาศัยอยู่ด้วยกันกับ ลูก 3 คน โดย MR.CHEN ได้ให้ภรรยาของตนจดทะเบียนสมรสกับชายไทยและให้ชายไทยคนดังกล่าวรับเป็นบิดาของลูกทั้ง 3 คน โดยจุดประสงค์เพื่อให้ลูกที่เกิดมาได้รับสัญชาติไทย
ส่วนนายอนันต์ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นกัน โดยให้การว่าได้รู้จัก MR.CHEN มาประมาณ 10 ปี และได้ให้ MR.CHEN ใช้บัญชีธนาคารและบัญชีแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลของตนเอง แต่ไม่ได้มีส่วนในการไปหลอกลวงแต่อย่างใด