สสจ.กาญจน์ เตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยงป้องกันและดูแลสุขภาพจากอากาศร้อน
2 พ.ค. 2567, 12:43
ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายแพทย์ปริพนท์ จุลเจิม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ด้วยสภาพอากาศร้อนไปจนถึงร้อนจัดในขณะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตั้งแต่อาการเล็กน้อย ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นตะคริวจากความร้อน มีผื่นแดงตามผิวหนัง จนถึงอาการรุนแรง คือ โรคฮีตสโตรก ซึ่งหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันที อาจทำให้เสียชีวิตได้ และโดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ เช่น กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุหญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว รวมถึงกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานหนักกลางแจ้ง ที่จะต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการสำคัญที่ต่างจากอาการเป็นลมแดดทั่วๆ ไปคือ ตัวร้อนจัด (อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส) เกิดภาวะขาดน้ำ ผิวหนังจะแห้ง ไม่มีเหงื่อออก มีอาการผิดปกติระบบประสาท เช่น เดินเซ กระสับกระส่าย หมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ช็อก หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนอาเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี จึงขอแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากอากาศร้อน เพื่อจะได้ปรับตัวจากความร้อนได้ดีขึ้นและนำไปสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดังนี้
- กลุ่มทารกและเด็กเล็ก ควรดื่มนมแม่อย่างเพียงพอ ให้ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง สวมเสื้อผ้าหลวมมีการระบายอากาศได้ดี ให้อยู่ภายในอาคาร ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้งช่วงอากาศร้อนจัด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ในรถที่จอดตากแดดตามลำพัง
- กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และมารดา ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ให้นมลูกอายุต่ำกว่า 6 เดือน หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อยู่ภายในอาคาร มีเครื่องปรับอากาศ หากไม่มีควรเปิดพัดลมแบบส่าย อย่าเปิดเข้าหาตัว
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เตรียมยาให้พร้อม หากเป็นผู้ป่วยติดเตียงควรดูแลอย่างใกล้ชิด งดทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมาก และพักผ่อนให้เพียงพอ ระมัดระวังการรับประทานยาบางชนิด เพราะอาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ได้ง่าย เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้คัดจมูก ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคจิตและจิตเวช เป็นต้น
- ผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรพกน้ำดื่มติดตัวตลอดเวลา หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกาย หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในช่วงอากาศร้อนจัด สวมใส่ชุดทำงาน หรือชุดออกกำลังกายที่ระบายอากาศได้ดี สถานประกอบการควรอบรมพนักงานถึงความเสี่ยง การป้องกัน และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากหยุดทำงานกลางแจ้งไปนานเมื่อกลับมาทำงานควรเริ่มจากงานเบาๆเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว
- กลุ่มผู้สูงอายุ ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆโดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ควรอยู่ในอาคารมีเครื่องปรับอากาศ หากไม่มีให้เปิดพัดลมแบบส่าย อย่าเปิดจี้เข้าหาตัวหากมีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาให้พร้อม หากแพทย์จำกัดปริมาณของเหลวในร่างกาย ควรสอบถามแพทย์ว่าดื่มน้ำได้มากแค่ไหน
หากพบผู้ป่วยเกิดโรคฮีตสโตรก ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ด้วยการนำผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่มหรือห้องมีความเย็น ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง รวมถึงถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็นเพื่อระบายความร้อน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดทางเดินหายใจ และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือ โทร. 1669 ทั้งนี้ สามารถขอรับคำแนะนำในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนได้ที่เว็บไซต์กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422