"รัฐบาล" มุ่งยกระดับอาชีวไทย เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างแรงงานทักษะให้ตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานโลก
4 พ.ค. 2567, 11:13
วันนี้ (4 พฤษภาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง อาชีวศึกษา: คุณภาพ มาตรฐาน และแรงจูงใจ โดยมีข้อเสนอแนะทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐาน และด้านแรงจูงใจผู้เรียนอาชีวศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัยและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และสร้างแรงจูงใจให้มีผู้สนใจเข้าเรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะให้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษา อาทิ พัฒนาสมรรถนะที่ขาดหายไป ด้วยการ Up - Skill, Re - Skill หรือ New - Skill เพื่อให้ครูมีสมรรถนะในการสอน พัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับกลุ่มอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และให้ความสำคัญกับการฝึกปฏิบัติวิชาชีพจริงในสถานประกอบการที่ตรงกับสาขาอาชีพของผู้เรียน
ส่วนข้อเสนอแนะด้านแรงจูงใจผู้เรียนอาชีวศึกษา เช่น การสร้างค่านิยมต่อการเรียนอาชีวศึกษาว่าการเรียนทางด้านอาชีวศึกษาจะทำให้ผู้เรียนมีงานทำทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับ การพัฒนากระบวนการแนะแนว นำเสนอความสำเร็จของผู้เรียนอาชีวศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพให้แพร่หลายผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ และสร้างระบบการเรียนร่วมกับการทำงานและมีรายได้ระหว่างเรียน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ซึ่งผู้เรียนจะได้มีประสบการณ์จริงและทักษะในการประกอบอาชีพระหว่างที่เรียนด้วย
“การยกระดับระบบอาชีวศึกษาไทย โดยเฉพาะการเสริมทักษะขั้นสูงและเฉพาะทาง ถือเป็นหนึ่งนโยบายที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างแรงงานทักษะให้ตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานโลก ซึ่งหากข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นแนวทางให้นักศึกษาและแรงงานอาชีวะไทยได้รับการสนับสนุนเพิ่มทักษะความรู้ ก็จะทำให้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอีกทางหนึ่งด้วย” รองโฆษกฯ รัดเกล้า กล่าว