"โรคไหม้คอรวงข้าว" ระบาดหนัก!! ส่งผลข้าวหอมมะลิ พื้นที่ จ.สุรินทร์ เสียหายนับแสนไร่ ผู้ว่าฯ เร่งสั่งการเกษตรจังหวัด หาทางควบคุมและป้องกัน
24 ต.ค. 2562, 17:52
วันนี้ (24 ต.ค.62) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า สถานการณ์ของการเกิดโรคระบาด คือ โรคไหม้คอรวงข้าว ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 2562 จนถึงขณะนี้ พบการระบาดทำให้ต้นข้าวที่กำลังออกรวง โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ กข.15 ที่ทำให้คอรวงข้าวไหม้ ลีบหักเสียหายแล้วในพื้นที่ 13 อำเภอ จำนวน 91,300 ไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดของ จ.สุรินทร์ ที่มีจำนวน 3 ล้าน 1 หมื่น 4 พันกว่าไร่ เพียงสัปดาห์เดียวระบาดเกือบ 1 แสนไร่ ทำให้ นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.สุรินทร์ ได้เร่งสั่งการให้นายอำเภอและเกษตรอำเภอ ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งหาทางป้องกันและควบคุม การระบาดอย่างเร่งด่วน ขณะที่ สนง.เกษตร จ.สุรินทร์ ได้ประสานงานขอเชื้อไตรโคเดอร์ม่า จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านอารักขาพืช จ.นครราชสีมา เพื่อนำมาขยายเชื้อ และสอนวิธีขายเชื้อให้เกษตรกรชาวสุรินทร์ แล้วกว่า 1 พันกิโลกรัม เพื่อนำไปฉีดพ่นกำจัดโรคไหม้คอรวงข้าวแล้ว ส่วนอำเภอต่างๆ ที่โรคไหม้คอรวงข้าวกำลังระบาด ได้เร่งสำรวจ เพื่อรายงานข้อมูลมาที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อพิจารณา ประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรตามระเบียบต่อไป
สำหรับพื้นที่ระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าว จำนวน 13 อำเภอ จากทั้งหมด 17 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ลำดวน ระบาด จำนวน 5,533 ไร่, อ.สนม จำนวน 8,968 ไร่,อ.ศรีณรงค์ 850 ไร่, ปราสาท 22,726 ไร่, โนนนารายณ์ 874 ไร่, สำโรงทาบ 12,620 ไร่, สังขะ 830 ไร่,ชุมพลบุรี 21,274 ไร่, รัตนบุรี 5,135 ไร่, เมืองสุรินทร์ 2,372 ไร่ ศีขรภูมิ 9,924 ไร่, เขวาสินรินทร์ 84 ไร่ และ อ.จอมพระ ระบาดจำนวน 110 ไร่ รวมทั้งหมด 91,300 ไร่
ทั้งนี้สาเหตุและปัจจัยของการเกิดโรคไหม้คอรวงข้าวในเบื้องต้น คือการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากแหล่งที่เกิดโรคไหม้จากปีที่แล้ว มาใช้ทำพันธุ์ในปีนี้ เกษตรกรหว่านข้าวแน่นเกินไป โดยใช้เมล็ดพันธุ์ 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ต้นข้าวหนาแน่น เกิดความชื้นสูงใต้ต้นข้าว อากาศถ่ายเทไม่ดี และในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 – สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกข้าวในเขต จ.สุรินทร์ กระทบปัญหาฝนทิ้งช่วง พอถึงเดือนกันยายน 2562 พายุพัดผ่าน ทำให้พื้นที่ทำนามีน้ำขัง เกษตรกรได้เร่งใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงต้น และมีการใช้ปุ๋ยยูเลียผสมเคมีสูตร 16-16-8 หว่านในนาข้าว ในอัตราประมาณ 30-50 กิโลกรัมต่อไร่
นายวันรบ เฮ่ประโคน เกษตร จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกิดสถานการณ์โรคไหม้คอรวงข้าวระบาด เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สุรินทร์ วันนี้มีรายงานเข้ามา 13 อำเภอ พื้นที่ที่รายงานเข้ามาล่าสุด จำนวน 9 หมื่น 1 พันกว่าไร่แล้ว โดยผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ ได้สั่งการให้นายอำเภอ เกษตรอำเภอ เข้าไประดม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการยับยั้งเชื้อโรคตัวนี้ มีการฉีดเชื้อไตรโคเดอร์ม่า เพื่อป้องกัน ซึ่งทาง สำนักงานเกษตร จ.สุรินทร์ ได้ประสานงานขอเชื้อไตรโคเดอร์ม่า จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านอารักขาพืช จ.นครราชสีมา มาให้พี่น้องเกษตรกรชาวสุรินทร์ แล้วกว่า 1 พันกิโลกรัม ส่วนหนึ่งเกษตรกรก็ทำขยายเชื้อไตรโคเดอร์ม่าเอง เพื่อไปฉีดพ่นไม่ให้เชื้อระบาด ในทุกอำเภอ ซึ่งเชื้อโรคดังกล่าวเริ่มระบาดมาตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.62 ที่ผ่านมา จำนวน 8 หมื่นไร่ ล่าสุดวันนี้ระบาดถึง 9 หมื่น 1 พัน 300 ไร่ แล้ว ซึ่งขณะนี้ทางอำเภอต่างที่ระบาด กำลังเข้าไปสำรวจ แล้วรายงานมาที่จังหวัด เพื่อให้จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบต่อไป นอกจากนี้ผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ สั่งการมาว่า เราจะต้องมีหนังสือขอความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตรและ กรมการข้าว เพื่อเข้าไปดูพื้นที่ที่ประสบภัย ว่าเข้าเกณฑ์ในการช่วยเหลือหรือไม่ ซึ่งเกณฑ์การช่วยเหลือจะต้องเสียหายโดยสิ้นเชิง มันมีระเบียบอยู่ ส่วนสาเหตุของโรค ต้องเข้าใจว่า จ.สุรินทร์ ประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงมานาน พอฝนตกลงมา เกษตรกรส่วนหนึ่งก็ดีใจ ต่างหว่านปุ๋ยเกินอัตรา โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย ถ้าหว่านมาก พอข้าวงอกงาม แต่มันจะอ่อนแอ อีกประเด็นหนึ่ง การหว่านข้าวของเกษตรกรต่อไร่ หว่านมากเกินไป บางรายหว่านถึง 40 กิโลกรัมต่อไร่ พอต้นข้าวแน่น แสงก็เข้าไปไม่ถึง ความอ่อนแอก็เกิด อีกส่วนหนึ่ง ถ้าพื้นที่ที่โรคไหมเคยระบาด โดยเฉพาะข้าวต้องระวัง เรื่องของการเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวมาทำพันธุ์ จะต้องคลุกสารเคมี ในการป้องกันและกำจัดเชื้อรา พอใส่ปุ๋ยมากเกินไป ช่วงกลางวันจะร้อน กลางคืนจะเย็น พออุณหภูมิได้ ก็จะเกิดโรคนี้ขึ้นมา ซึ่งโรคไหม้คอรวงข้าว จะไหม้บริเวณคอรวงข้าว ลีบ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเกิดโรคนี้ระบาดเหมือนกัน ปีหน้าเราจะต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรทุกคนที่ทำนา ว่า การหว่านข้าวอย่าหว่านในอัตราที่มากเกินไป จริงๆ ความเหมาะสมอยู่ที่ 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ แต่บางรายหว่านถึง 40-45 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมากเกินไป ส่วนปุ๋ย ก็อย่าใส่ปุ๋ยยูเลียมากเกินไป สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวของ จ.สุรินทร์ มีทั้งหมด 3 ล้าน 1 หมื่น 4 พันว่าไร่ ซึ่งได้รับรายงานวันนี้ระบาดแล้ว 9 หมื่น 1 พัน 300 กว่าไร่ ต้องติดตามสถานการณ์ กันวันต่อวัน เมื่อเช้าตนก็ลงพื้นที่ อ.ศีขรภูมิ เพื่อรณรงค์กับชาวบ้านช่วยกัน และฉีดพ่นเชื้อป้องกันโรค ส่วนที่เกิดขึ้นแล้วต้องควบคุม ส่วนที่ยังไม่เป็นเราต้องป้องกัน ไม่ให้ระบาดต่อไปอีก ซึ่งช่วงนี้ระบาดกับข้าวพันธุ กข.15 (กอขอสิบห้า) เนื่องจากออกรวงก่อน ทำอย่างไรไม่ให้ข้าวมะลิ 105 (กอขอหนึ่งร้อยห้า) จะไม่เป็นโรคนี้ต่อไป ฝากถึงเกษตรกร เราต้องหมั่นไปดูไปตรวจแปลงนาไว้ ว่าเป็นอย่างไร เกิดโรคหรือไม่ ถ้าเกิดโรค เราก็ต้อง ไปขอเชื้อที่ สนง.เกษตรอำเภอในพื้นที่ น่าจะเพียงพอ เพราะพี่น้องเกษตรกรก็มีมาช่วยกันทำขยายเชื้อไตรโคเดอร์ม่าเพื่อไปฉีดพ่นกำจัดหลายพื้นที่แล้ว