ชาวสวนทุเรียนท้อ หวั่นฝนทิ้งช่วงอีกเดือน เสียหายขั้นหมดตัว ขณะ อนุทิน ลงติดตามช่วยเหลือเกษตรกร
7 พ.ค. 2567, 13:44
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 6 พฤษภาคม 67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ เพื่อติดตามการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ของ จ.ชุมพร โดยมี นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผวจ.ชุมพร พร้อมด้วย พล.ต.ชยพณัฐ วิริรัตน์ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็นผู้แทนกองทัพไทย นายสันต์ แซ่ตั้ง สส.ชุมพร เขต 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ
โดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การเดินทางมาครั้งนี้นั้น ถือว่าเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากทาง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในสถานการณ์ความเดือดร้อนของชาวสวนทุเรียนในจังหวัดชุมพรเป็นอย่างมาก โดยก่อนหน้าได้สั่งการให้ทางกองทัพไทย ได้บูรณาการหน่วยฝ่ายระดมรถบรรทุกน้ำ มาช่วยเหลือชาวสวนทุเรียนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของฝนทิ้งช่วง เป็นเวลานานนับ 2 เดือน จึงได้ลงติดตามการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุเรียน พร้อมให้กำลังใจประชาชน และเยี่ยมบำรุงขวัญ กำลังพลของกองทัพไทย และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในพื้นที่ ต.ชุมโค อ.ปะทิว และ ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร อีกด้วย
อนุทิน กล่าวว่า โดยจังหวัดชุมพร ถือว่าเป็นเมืองหลวงของผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน ที่มีการส่งออกแต่ละปีจำนวนมาก และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนได้เป็นก่อเป็นกำ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยแล้งขึ้นมา ทางรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการ สั่งการขอให้ทุกส่วนระดมกำลังทรัพยากรที่หน่วยมีอยู่กันอย่างเต็มที่ เพื่อคลี่คลายปัญหาให้แก่ประชาชนโดยเร็ว และจะนำเหตุการณืในครั้งนี้เป็นแนวทางในการแก้ไขในการช่วยเหลือให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ ก็จะให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อม โดยจะให้สำรวจและขุดลอกแหล่งน้ำให้สามารถกักเก็บน้ำให้มากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อรองรับในการเผชิญเหตุในครั้งต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ด้านนายบัญชา ยังธิคุณ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 26 ม.16 ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร กล่าวว่า ตนเองยึดอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน บนเนื้อที่ 7 ไร่ มีต้นทุเรียน กว่า 130 ต้น และตั้งแต่ปลูกทุเรียนมากว่า 20 ปี ไม่เคยประสบภัยแล้ง ฝนขาดช่วงเหมือนครั้งนี้เลย ปี 66 ที่ผ่านมาแล้งหนักแต่ไม่โหดร้ายเหมือนปีนี้ แม้ชาวสวนทุเรียนทุกรายจะเตรียมความพร้อมที่จะประสบภัยแล้งที่เชื่อว่าจะหนักขึ้นเรื่อย โดยการขุดเจาะหาแหล่งน้ำเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ แต่ปีนี้นอกจากฝนหยุดตกจนขาดช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว ยังเจอสภาพอากาศที่ร้อนระอุ ทำให้พืชเกษตร หลายชนิดต้องยืนต้นตาย จนต้องทำใจ และหากสภาอากาศยังอยู่แบบนี้ น้ำที่จะนำมาใช้รดไม่เพียงพอ เชื่อไม่ถึง 1 เดือน เกษตรกรชาวสวนทุกรายก็จะได้รับเสียหายจนแทบล้มกันหลายราย
ในขณะที่ น.ส.พันธนีย์ มิ่งขวัญ ส.อบจ.ชุมพร เขตตำบลรับร่อ เปิดเผยว่า ตำบลรับร่อ มี 23 หมู่ ขณะนี้ ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในครั้งนี้แล้ว จำนวน 12 หมู่ตั้งแต่ ม.ที่ 10 ไปจนถึง ม.ที่ 23 ยกเว้น ม.13 เพียงหมู่เดียว เนื่องจากชาวบ้านตรงนี้ ได้ร่วมใจกับ ม.9 ช่วยกันทำฝายชะลอน้ำกั้นน้ำในคลองรับร่อ ซึ่งเป็นสายน้ำหลักของ ต.รับร่อ และเป็นต้นน้ำที่จะไหลไปยังเขตเมืองชุมพร ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องใช้รถบรรทุกถังมาขนน้ำ บริเวณดังกล่าวซึ่งทางจังหวัดได้นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งไว้เพื่อช่วยเหลือ
น.ส.พันธนีย์ กล่าวว่า มีชาวบ้านหลายคนได้มีปรึกษาร่วมกันว่า ต้องการอยากจะทำฝายกั้นน้ำเป็นช่วงๆเพื่อชะลอน้ำและกัดเก็บน้ำไม่ให้ไหลลงทะเลเวลาฝนตกหนัก และเมื่อฝนทิ้งช่วงแต่ละฝายของแต่ละจุดก็จะมีน้ำสำรองไว้ให้ชาวสวนสามารถมาสูบไปใช้ได้ โดยเป็นการพึ่งพาตนเองไปก่อน ให้ถึงที่สุดแล้วจะร้องขอความช่วยเหลือจากภายนอกต่อไป แต่ทั้งนี้ก็ติดปัญหาด้านระเบียบกฎหมายข้อบังคับ ซึ่งหากจังหวัดเป็นเจ้าภาพหลัก ทุกคนก็พร้อมที่จะร่วมแรงร่วมใจเพื่อช่วยกันทำฝายตามภูมิปัญญาชาวบ้านอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดจังหวัดได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย เขตการให้ความช่วยเหลือภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเหตุภัยแล้งแล้ว 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ปะทิว 5 ตำบล 14 หมู่บ้าน / อ.ท่าแซะ 1 ตำบล 12 หมู่บ้าน/ อ.เมืองชุมพร 7 ตำบล 12 หมู่บ้าน / อ.ละแม 4 ตำบล 23 หมู่บ้าน / อ.สวี 11 ตำบล 100 หมู่บ้าน/ อ.หลังสวน 4 ตำบล 42 หมู่บ้าน/อ.พะโต๊ะ 2 ตำบล 18 หมู่บ้าน / อ.ทุ่งตะโก 4 ตำบล 41 หมู่บ้าน