นายกฯ ประธานพิธีลงนามสร้าง "ไฮสปีดเทรน" 3 สนามบิน คาดเปิดใช้ปี 66
24 ต.ค. 2562, 17:57
วันนี้ ( 24 ต.ค.62 ) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน พร้อมเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการฯ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งมีนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินจำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร) โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษภาคตะวันออก การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินจำกัด พร้อมร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
ด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้กำหนดจัดพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินจำกัด และบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่าง สำนักคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินจำกัด ขึ้นในวันนี้
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมท่าอากาศยานสำคัญของประเทศโดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกงเข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นสถานีสุดท้าย รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งที่สำคัญของประเทศไทยที่ภาคเอกชนได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน Public -Private-Partnership หรือ PPP กับภาครัฐ
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบ เกิดการกระจายรายได้ คาดว่าจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นการพัฒนาประเทศยกระดับภาคอุตสาหกรรมการขนส่งมวลชนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0