กรมชลฯ กำชับชลประทานทั่วประเทศ ยึด 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67
8 พ.ค. 2567, 15:48
วันนี้ ( 8 พ.ค.67 ) นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 3 - 4 ของเดือนพฤษภาคมนี้ จึงเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามและเฝ้าระวังสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด โดยนำข้อมูลจากหน่วยงานพยากรณ์ที่เกี่ยวข้องมาวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่กับการเก็บกัก พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อย่างเคร่งครัด รวมทั้ง จัดเตรียมเครื่องจักร - เครื่องมือ เข้าประจำจุดเสี่ยงเพื่อเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที และตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ ที่สำคัญให้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบันพบอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ41,010 ล้านลูกบาศก์เมตร พบเป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 17,070 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ10,921 ล้านลูกบาศก์เมตร พบเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 4,225 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาพรวมตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมจนถึงขณะนี้จัดสรรน้ำช่วงฤดูฝนปีนี้ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 957 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำไปแล้วประมาณ 349 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักยังคงต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งกรมชลประทาน ได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบและปรับเพิ่มการระบายน้ำจากทางพื้นที่ตอนบน เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอีกครั้งจนถึงช่วงวันที่ 8 -12 พฤษภาคม และ 25 - 29 พฤษภาคม