ชมรมผู้สูงอายุห้วยม้าลอยปลูกสมุนไพรขายหารายได้ ซื้อของเยี่ยมผู้ยากไร้-ผู้ป่วยติดเตียง
8 พ.ค. 2567, 16:55
ชมรมผู้สูงอายุบ้านห้วยม้าลอย ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ ปลูกพืชสมุนไพรขายหารายได้ช่วยเหลือดูแลผู้ยากไร้ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่
ที่จังหวัดสุพรรณบุรีนายวสันต์ จี้ปูคำ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี นำเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดเกษตรอำเภอดอนเจดีย์ ลงพื้นที่ จุดเรียนรู้การแปรรูปพืชสมุนไพร กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพร บ้านห้วยม้าลอย หมู่ 4 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มผู้สูงอายุที่รวมตัวกันปลูกพืชสมุนไพรและกำลังช่วยกันขุดขมิ้นไพร เพื่อขายส่งโรงงานและแปรรูปขายหารายได้ช่วยเหลือผู้ยากไร้ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่
นายเตียง ชมชื่น ประธานศูนย์เรียนรู้การเกษตรบ้านห้วยม้าลอย ตำบลหนองสาหร่าย หรือศูนย์ เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอดอนเจดีย์ กล่าวว่าศูนย์ได้ร่วมกับชมรมผู้สูงอายุปลูกพืชสมุนไพร ขมิ้นชันพันธุ์แดงสยาม ในเนื้อที่ 2 ไร่วันนี้ผู้สูงอายุได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมขุดคัดแยกขมิ้นชัน โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล และ อบต.หนองสาหร่าย และอสม.มาร่วมกิจกรรม ในครั้งนี้ จุดประสงค์ของการปลูกขมิ้นชันและพืชสมุนไพรก็เพื่อหารายได้สมทบทุนซื้อของไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากไร้ เป็นการดูแลกันในส่วนของชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลหนองสาหร่าย
วันนี้เรามาขุดแล้วก็คัดแยกหัวที่ดี เพื่อขายส่งให้โรงงาน ส่วนที่เหลือก็นำไปแปรรูปตากแห้ง นำไปบดเป็นขมิ้นผง บางส่วนก็นำมาขยายพันธุ์ ให้เกษตรกรนำไปปลูกตามบ้านเป็นการแบ่งปันกัน ส่วนผลผลิตปีนี้ถือว่าค่อนข้างดี เฉลี่ยไร่ละ 800-1,000 กิโล ราคาก็ประมาณ กิโลกรัมละ 25 บาทซึ่งราคาปานกลางไม่ถูกและไม่แพง พออยู่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตของขมิ้นชัน ค่อนข้างน้อย โรคต่างๆที่เกี่ยวกับแมลงไม่ค่อยมีนับว่าเป็นข้อดีการดูแลก็ไม่ยาก เพราะเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยไม่ชอบน้ำขังไม่ชอบแฉะหัวจะเน่าง่ายต้องปลูกในพื้นที่ที่ระบายน้ำได้ดีเป็นพืชที่ปลูกง่ายดูแลง่าย อายุประมาณ 8-10 เดือน จึงขุดได้ ส่วนฤดูกาลปลูกก็จะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภา-มิถุนา เป็นช่วงฤดูฝนตก ซึ่งขมิ้นจะมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เพราะถ้าฟ้าไม่ร้องก็จะไม่แตกกอ
ส่วนสมาชิกของเราเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมีอยู่หลายร้อยท่าหนองสาหร่ายมีอยู่ประมาณ 1,700 คน ที่ผ่านมาเราได้จัดกิจกรรมปลูกและขุดขมิ้นมาอย่างต่อเนื่องแต่มาสะดุดช่วงที่โควิดระบาด และวันนี้เราก็กลับมาฟื้นกิจกรรมขึ้นมาอีก คาดว่าชมรมผู้สูงอายุจะจัดกิจกรรมต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ทางด้าน นายบุญศรี มณีวงษ์ ประธานชมรมผู้สูงอายุ ตำบลหนองสาหร่าย กล่าวว่าขณะนี้เราทำกิจกรรมเกี่ยวกับสมุนไพรเป็นหลักของชมรมผู้สูงอายุตำบลหนองสาหร่าย ในการดูแลกันโดยการร่วมกันของสมาชิก และภาคีอื่นทุกภาคีที่เข้ามาร่วมกับเรา ก็จะเป็นเรื่องสมุนไพร ซึ่งสมุนไพรของที่นี่นอกจากขมิ้น แล้วยังมีไพร มะแว้ง ตะไคร้หอม และอื่นๆอีกหลายชนิด ซึ่งเราก็พยายามจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ต่อส่วนรวมได้ เราก็มาคิดกันว่าทำอย่างไรเราจะแปรรูปสมุนไพรที่เรามีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่ความรู้โบราณเราก็มีอยู่พอสมควรในเรื่องวิธีการถนอมอาหาร ถนอมสมุนไพรให้อยู่ได้ยาวนาน
เช่นการนำตะไคร้หอมไปสกัดเอาน้ำมันตะไคร้หอม เอามาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ใช้กับสุขภาพได้ใช้เป็นเครื่องสำอางได้ วันนี้เรายังไม่ได้มองในมุมของการตลาด เพราะเราทำในนามของชมรมซึ่งเป็นชมรมเล็กๆ ของตำบลเรา นกจากนั้นเราก็มองว่าสมัยโบราณเราใช้ไพรในการดูแลรักษาสุขภาพทั้งคนและสัตว์ ทุกบ้านก็จะมีไพรกันทุกบ้าน มาวันนี้เราให้ความสำคัญและหันไปใช้สารเคมีกันมากขึ้น ทำให้สมุนไพรไทยที่อยู่คู่ชีวิตของเราค่อยๆเลือนหายไปดังนั้นชมรมเราจึงได้รวบรวมเอาสมุนไพรต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งคนทั้งสัตว์และสิ่งแวดล้อม เช่นขมิ้น ไพร ตะไคร้ ตะไคร้หอม มะแว้ง ซึ่งบริโภคสดก็ได้หรือแปรรูปก็ได้ ขณะนี้เราได้เอาไพรและขมิ้นชันซึ่งมีประโยชน์ทางด้านผิวพรรณและสุขภาพ ไพรมีฤทธิ์ ลดอาการปวดกล้ามเนื้อคลายกล้ามเนื้อได้เอาไปใช้กับกับสูตรโบราณตำราโบราณ ที่ใช้น้ำมันมะพร้าวในการนวด รักษากระดูกของมนุษย์มาตั้งแต่โบราณ ขณะนี้เราทำเพื่อดูแลสุขภาพก่อนชุมชนที่เอาไปใช้ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าดีกว่าที่ซื้อ เพราะของเรามีคุณภาพ ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย และสำนักงานเกษตรจังหวัด
ทางด้านนายวสันต์ จี้ปูคำ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า สมาชิกภายในกลุ่มเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก ทำให้คุณภาพของสมุนไพรที่ได้เป็นที่ยอมรับของผู้รับซื้อ และได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP พืชอาหาร อดีต เดิมในพื้นที่เคยผลิตกระเจี๊ยบแดงอยู่ช่วงหนึ่งจุดเปลี่ยนเกิดจากชมรมผู้สูงอายุ อยากจะหาเงินเพื่อไปช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ โดยผ่านกิจกรรมที่ผู้สูงอายุร่วมกันทำ และสามารถทำให้เกิดรายได้ เลยมีการคิดริเริ่มจะมีการปลูกพืชสมุนไพรขึ้น โดยได้ความอนุเคราะห์พื้นที่จากบุคคลในชุมชน เพื่อหาเงิน ช่วยเหลือชุมชน กิจกรรมเกี่ยวกับพืชสมุนไพร (ขมิ้น ไพร มะกรูด) กิจกรรมปัจจุบันประกอบด้วย การปลูกพืชสมุนไพรต่างๆ การเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ การผลิตอาหารสัตว์ไว้จำหน่ายในพื้นที่
พื้นที่การปลูกพืชสมุนไพรทั้งหมดจำนวน 2 ไร่ โดยมีต้นทุน(พันธุ์ สายน้ำหยด แรงงาน) ในการผลิต(ครั้งแรก)ไร่ละ 5,000 บาท โดย 1 ไร่ จะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 15,000 – 20,000 บาท และต้นทุนการผลิตรอบต่อไปจะลดลงเหลือ 2,500 บาท เนื่องจากจะสามารถ ใช้พันธุ์จากแปลงปลูกเดิม และสายน้ำหยดที่สามารถใช้ซ้ำได้ด้านการตลาดมีช่องทางการจำหน่ายให้กับทั้งภาครัฐ (โรงพยาบาลอู่ทอง) และภาคเอกชนและโรงงานผลิตเครื่องปรุงอาหารสำเร็จรูป สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรีและสำนักงานเกษตรอำเภอดอนเจดีย์ ให้การสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีการปลูกพืชสมุนไพรสนับสนุนวัสดุการเกษตร การตรวจรับรองมาตรฐานแปลง GAP สมุนไพร (สมุนไพรสำหรับเป็นยารักษาโรคและพืชสมุนไพรสำหรับเป็นอาหาร) การเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดพืชสมุนไพรติดตามเยี่ยมเยียน เพื่อให้คำปรึกษา และให้คำแนะนำต่าง ๆ อยู่เสมอ