อย.เตือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลักลอบใส่สาร "ไซบูทรามีน" ชี้ผลข้างเคียงถึงชีวิต
13 พ.ค. 2567, 15:30
วันนี้ ( 13 พ.ค.67 ) กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ออกเอกสารเตือน ระวัง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลักลอบใส่สาร ไซบูทรามีน โดยระบุว่า ข่าวออกเยอะมาก เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มักลักลอบใส่สารไซบูทรามีน แล้วไปโฆษณาโอ้อวดเกินจริงกันต่างต่างนานา ไม่ว่าจะเป็น ผอมเร็วทันใจ ทางลัดลดหุ่นเพรียวด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ โดยมักแอบอ้างว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นปลอดภัย 100% แท้ที่จริงแล้ว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้มักลักลอบใส่สารไซบูทรามีน ซึ่งหากผู้บริโภครับประทานไป อาจได้รับผลข้างเคียงจากสารนี้ จนถึงขั้นเสียชีวิตกันเลยก็มีแล้วไซบูทรามีน คืออะไร ไซบูทรามีน (Sibutramine) เดิม คือยาที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษา และควบคุมโรคอ้วน สำหรับผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน โดยจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องใช้ใบสั่งแพทย์ในการซื้อจากร้านขายยาเท่านั้น ไม่ได้ว่าใครอยากกินก็ไปหาซื้อกันง่าย ไ เพราะการใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ต่อมา มีการทดลองทางคลินิกพบว่า ยาไซบูทรามีน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือกสมอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้ง ๆ ที่มีผลจ่อน้ำหนักที่ลดลง ไม่ได้ต่างจากคนที่ไม่ได้กินยาเท่าไหร่ในปี พ.ศ. 2553 ยาไซบูทรามีน จึงได้เพิกถอนทะเบียน และถอนยานี้ออกจากตลาด เพราะผลข้างเคียงจากยานั้น อันตราย ไม่คุ้มกับความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยผลข้างเคียงจากไซบูทรามีนมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปากแห้ง คลื่นไส้ ท้องผูก สับสน อ่อนแรง เหงื่อออก ปวดหัว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ วิตกกังวล การรับรู้รสเปลี่ยนไป หลอดเลือดขยาย ความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง
แต่ปัจจุบัน ก็มีผู้ประกอบการที่ลักลอบใส่สารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคว่าสามารถช่วยลดน้ำหนัก บล็อก เบิร์นได้ทันใจ ปลอดภัย เห็นผล ซึ่งมีผู้บริโภคไปหลงเชื่อโฆษณาหลอกลวงซื้อมารับประทาน แล้วได้รับผลข้างเคียงจนถึงขั้นเสียชีวิต เป็นสิ่งที่น่าตกใจ และน่ากลัวมาก
ต่อไปนี้ หากเห็นผลิตภัณฑ์ใด อ้างว่ากินแล้วลดความอ้วน ก็ให้จำไว้เลยว่าอย่าไปหลงเชื่อคำหลอกลวงเหล่านี้ แล้วหันมาคุมอาหาร มาออกกำลังกายกันดีกว่า เห็นผลช้าหน่อย แต่ปลอดภัย และสุขภาพแข็งแรง นอกจากนี้ หากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: [email protected] หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ Line @Fdathai หรือ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด