เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เผยภาพจำลอง "พระธาตุเจดีย์หลวง" รูปทรงในอดีตแบบ 3 มิติ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์


25 ต.ค. 2562, 10:12



เผยภาพจำลอง "พระธาตุเจดีย์หลวง" รูปทรงในอดีตแบบ 3 มิติ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์




คณะลูกศิษย์เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง ร่วมกันจำลองพระธาตุเจดีย์หลวงเต็มองค์ ให้เห็นรูปทรงในอดีตแบบ 3 มิติ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เผยให้เห็นภาพก่อนที่จะเกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เพื่อถวายเจ้าอาวาสที่เจริญสิริอายุครบ 94 ปี โดยคณะวิจัยนำเครื่อง 3D Laser Scanner เพื่อทำการตรวจสอบระยะต่างๆ ขององค์พระธาตุเจดีย์หลวงอีกครั้ง เพื่อให้ได้แบบที่ชัดเจน ก่อนไปทำการจำลองพระธาตุเจดีย์หลวงเต็มองค์ ใช้วิธีขึ้นรูปด้วยเงินทั้งองค์

เพจเฟสบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า Burin Tharavichitkun ซึ่งได้โชว์ภาพ 3 มิติของพระธาตุเจดีย์หลวงแบบเต็มองค์ ซึ่งมีข้อความว่า "น่าจะเกือบสิบปีได้ เคยศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับพระเจดีย์หลวง หรือราชกุฏาคาร แห่งวัดโชติการามที่เคยเป็นสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่เป็นหลักเป็นประธานของเวียงเชียงใหม่ ทว่าในการศึกษาครานั้นยังดำเนินการเบื้องต้น เพราะสำรวจรังวัดได้ไม่มากนักด้วยข้อจำกัดนานา เนื่องจากพระเจดีย์มีขนาดใหญ่มโหฬาร มาครั้งนี้ มุ่งหมายทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเจดีย์หลวง หลังจากไปหมกมุ่นทำความเข้าใจพุทธศาสนสถาปัตยกรรมพุกามมาแล้วพักใหญ่ และได้เข้าสำรวจที่เรือนยอด โดยมีลูกศิษย์วัดเจดีย์หลวง และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด ร่วมสำรวจ" ต่อมาผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่วัด เพื่อสอบถามข้อมูลดังกล่าวว่า ทางวัดมีโครงการจะบูรณะจริงหรือไม่

 



 


จากการสอบถามข้อมูลก็ได้ทราบว่า คณะลูกศิษย์ของพระเดชพระคุณพระเทพวุฒาจารย์ มีความเห็นร่วมกันที่จะดำเนินการจำลองพระธาตุเจดีย์หลวงเต็มองค์เพื่อน้อมถวายพระเดชพระคุณพระเทพวุฒาจารย์ (ชูเกียรติ อภโย) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เจริญสิริอายุ 94 ปี ในวันที่ 20 ธันวาคม 2562 โดยศิษยานุศิษย์ฝ่ายคณะสงฆ์ คือพระครูโสภณกวีวัฒน์ (ธนจรรย์ คุตฺตธมฺโม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร และคณะผู้ช่วยเจ้าอาวาส จำนวน 10 รูป และทางคุณแม่พร้อมพรรณ ศิริพัฒน์ เจ้าของโรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา กรุงเทพฯ พร้อมด้วยลูกหลาน ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ฝ่ายฆราวาส ผู้เป็นเจ้าศรัทธามีจิตกุศลออกค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานทั้งหมด

 


ต่อมาทางคณะลูกศิษย์ ได้พบว่ามีองค์กรและคณะบุคคลได้ทำการศึกษาวิจัยและสันนิษฐานรูปแบบพระธาตุเจดีย์หลวงเต็มองค์ไว้ 2 รายคือ กรมศิลปากร นำเสนอแบบสันนิษฐานองค์พระธาตุเจดีย์หลวงเต็มองค์เป็นภาพลายเส้น 2 มิติ จัดทำขึ้นในโครงการบูรณะโบราณสถานเจดีย์หลวง พ.ศ.2529 และทาง ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ และคณะผู้ร่วมวิจัย ดำเนินการศึกษาวิจัยและนำเสนอแบบเป็นภาพลายเส้นและภาพ 3 มิติ Photogrametry ทางคณะศิษยานุศิษย์จึงได้พิจารณาเลือกแบบของ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ และคณะ สำหรับทำการจำลองพระธาตุเจดีย์หลวงเต็มองค์ ในการนี้คณะศิษยานุศิษย์มีเจตนาเพียงจำลอง เป็นเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เนื่องจากพระเดชพระคุณพระเทพวุฒาจารย์เคยมีสมณศักดิ์ ที่มีความหมายเกี่ยวกับพระธาตุเจดีย์หลวง เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2518 เป็นที่พระครูมหาเจติยาภิบาล ปี พ.ศ.2539 เป็นที่พระมหาเจติยาภิบาล และปี พ.ศ.2547 เป็นที่พระราชเจติยาจารย์ นอกจากนี้ยังพนักอยู่ที่กุฏิซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าองค์พระธาตุเจดีย์หลวงด้านทิศใต้ตลอดจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 70 ปี



ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองคณบดีคณะฝ่ายวิจัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ ยินดีมอบแบบพร้อมรายละเอียดการศึกษาวิจัยให้แก่คณะลูกศิษย์เพื่อนำไปดำเนินการตามกุศลเจตนา โดยก่อนมอบแบบให้นั้นทาง ดร.เกรียงไกร พร้อมด้วยนักศึกษาปริญญาเอก คือนายอิสรชัย บูรณะอรรจน์ และนายวิษณุ หอมนาน ได้เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ และนำเครื่อง 3D Laser Scanner เพื่อทำการตรวจสอบระยะต่างๆ ขององค์พระธาตุเจดีย์หลวงอีกครั้ง เพื่อให้ได้แบบที่ชัดเจน ก่อนไปทำการจำลองพระธาตุเจดีย์หลวงเต็มองค์ ใช้วิธีขึ้นรูปด้วยเงินทั้งองค์ หล่อองค์พระคงหลวงในซุ้มจรนำทั้ง 4 ทิศ ช้างยืนรอบองค์เจดีย์ 28 เชือก และพญานาคเชิงบันใดทางขึ้นไปบนองค์พระธาตุเจดีย์หลวง 8 ตน การแกะสลักเงินของชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นตามที่ปรากฏอยู่บนองค์พระธาตุเจดีย์หลวง ซึ่งกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร บันทึกไว้ในแบบพิมพ์เขียวของโครงการบูรณะโบราณสถานเจดีย์หลวง พ.ศ. 2529 งานขั้นสุดท้ายดำเนินการปิดทององค์จำลอง พระธาตุเจดีย์หลวงเต็มองค์ตามที่ตำนานระบุไว้

 


ต่อมาทางคณะศิษยานุศิษย์ ได้รับคำแนะนำจากคุณปรีเปรม มหากนก อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบริการอากาศยาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเคยร่วมงานกับร้านพรสวรรค์ซิลเวอร์ดำเนินการปิดทององค์พระธาตุเจดีย์ดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แนะนำร้านแห่งนี้ ทางคณะจึงได้ว่าจ้างร้านพรสวรรค์ซิลเวอร์ ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยคุณธีรวัสฏ์ เอนกวิชยานนท์ และคณะ ประกอบด้วย คุณอังควิภาษ์ ตระกูลวีรยุทธ์, คุณนนทนี ทวีอนันทน์, คุณบุญฤทธิ์ สาคร และคุณคล้ายพงศ์ ทับทิม เป็นผู้ดำเนินการจำลองพระธาตุเจดีย์หลวงเต็มองค์ ประดับรูปหล่อต่างๆ แกะสลักลายปูนปั้นด้วยเงินและปิดทอง ขนาดฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณ 40 เซนติเมตร สูงประมาณ 80 เซนติเมตร






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.