นายกฯ เชื่อมั่นศักยภาพภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง พร้อมผลักดันโครงข่ายคมนาคมขับเคลื่อนเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การขนส่ง และการบิน
17 พ.ค. 2567, 10:59
วันที่่ 17 พฤษภาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เห็นศักยภาพจังหวัดภูเก็ตและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งในปี 2566 มียอดเศรษฐกิจสะพัดกว่า 3 แสนล้านบาท ประกอบกับได้รับความเชื่อมั่นและความนิยมอย่างต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยว ซึ่งล่าสุดเว็บไซต์ Bounce ได้เผยผลการจัดอันดับเกาะน่าท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2567 (https://usebounce.com/blog/the-island-index-2024) โดยจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย ติดอันดับที่ 1 ด้วยดัชนีคะแนนเต็ม 10 จากทุกปัจจัยที่ต่างส่งเสริมกัน ทั้งความหลากหลายของชายหาดที่มีชื่อเสียง กิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ทิวทัศน์ของพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุด รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่มีชีวิตชีวา ในราคาที่เหมาะสม
จากศักยภาพที่หลากหลายของจังหวัดภูเก็ต สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การขนส่ง และศูนย์กลางการบินของภูมิภาค พร้อมส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนแผนการดำเนินการในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในฐานะเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก และประตูสำคัญของภาคใต้ตอนล่าง โดยครอบคลุมการพัฒนาระบบขนส่งทุกมิติทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบกในระยะเร่งด่วนจะเริ่มต้นจากการมอบหมายให้กรมทางหลวง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 402 ด้วยการปรับปรุงระบบไฟสัญญาณจราจรอัจฉริยะ กำหนดเขตห้ามจอดรถ ปิดจุดกลับรถลดความแออัด สำหรับแผนระยะกลาง แก้ไขปัญหาจุดคอขวดบนทางหลวงหมายเลข 402 ควบคู่กับการก่อสร้างและขยายทางหลวงหมายเลข 4027 เป็น 4 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง คาดว่าจะพร้อมให้บริการในช่วงปลายปี 2569 และในส่วนระยะยาว มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พัฒนาทางพิเศษเชื่อมระหว่างหาดป่าตองกับท่าอากาศยานภูเก็ต และเชื่อมต่อกับทางพิเศษระหว่างเมือง ซึ่งจะช่วยประหยัดระยะเวลาเดินทางจากท่าอาศยานภูเก็ตไปหาดป่าตอง คาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ในปี 2573
สำหรับการพัฒนาระบบชนส่งมวลชนทางราง ได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการนำรถไฟฟ้ารางเบามาให้บริการในช่วงท่าอาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. โดยออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และส่งผลกระทบต่อการจราจรบนทางหลวงให้น้อยที่สุด คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างในปีพ.ศ. 2571 และพร้อมให้บริการในปี 2574 ขณะที่ การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อรองรับ Cruise Terminal ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า การท่องเที่ยวทางเรือสำราญขนาดใหญ่ฝั่งทะเลอันดามันเติบโตเพิ่มขึ้น และนักท่องเที่ยวทางเรือสำราญเป็นนักท่องเที่ยวศักยภาพสูง หากสามารถเทียบท่าในไทยได้มากขึ้นและจอดท่องเที่ยวนานขึ้น จะสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากขึ้นด้วย โดยคาดว่าการศึกษาการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตจะแล้วเสร็จภายในช่วงปลายปีพ.ศ. 2567
ด้านการขนส่งทางอากาศ ได้มอบหมายให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ปรับปรุงและพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อขยายศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร ได้แก่ ด้านการบริการจัดการพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รองรับปริมาณผู้โดยสาร 18 ล้านคนต่อปี เบื้องต้นคาดแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2574 และด้านการเพิ่มทางเชื่อมต่อโดยให้บริการเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก (Seaplane) ณ สนามบินน้ำ (Water Aerodrome) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางจากเกาะภูเก็ต เพื่อไปยังโรงแรมที่อยู่ในเกาะใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันท่าอาศยานภูเก็ตเพิ่มขีดความสามารถรองรับ Seaplane จากรันเวย์ไปยังเกาะได้โดยตรง 100 เที่ยวบินต่อวัน พร้อมยังศึกษาแนวทางการก่อสร้างท่าอาศยานอันดามันในพื้นที่จังหวัดพังงา เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมในพื้นที่และภูมิภาค โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปี พ.ศ. 2575
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการคมนาคมชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดภูเก็ตเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และเป็นประตูสำคัญของภาคใต้ตอนล่าง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริการด้านคมนาคมในจังหวัดภูเก็ตจะช่วยอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงการลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก สู่การยกระดับ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคต ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ขนส่ง และการบินของภูมิภาคอย่างเข้มแข็ง” นายชัย กล่าว