เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ เน้นย้ำความร่วมมือกันของเอเชียบนเวที Nikkei Forum สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนญี่ปุ่น นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประชาชนทั้งภูมิภาค


24 พ.ค. 2567, 09:07



นายกฯ เน้นย้ำความร่วมมือกันของเอเชียบนเวที Nikkei Forum สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนญี่ปุ่น นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประชาชนทั้งภูมิภาค




วันนี้ (24 พฤษภาคม 2567) เวลาประมาณ 09.40 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Imperial กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 (the 29th Nikkei Forum Future of Asia) พร้อมกล่าวปาฐกถาภายใต้หัวข้อ “Asian Leadership in an Uncertain World” (การเป็นผู้นำของเอเชียในบริบทโลกที่มี ความผันผวน) โดยนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรียินดีกับการร่วมประชุม Nikkei Forum Future of Asia เป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยเดือนธันวาคมปีที่แล้วได้มาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น กำหนดเป็นทิศทางการทำงานในอนาคตร่วมกัน บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ “Heart-to-heart” กับญี่ปุ่นพันธมิตรที่เก่าแก่ 
 



ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายครั้งใหญ่ ตั้งแต่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ผลกระทบของโควิด-19 แต่นายกรัฐมนตรีมองว่าเป็นโอกาสสำหรับภูมิภาคที่จะมีบทบาท พร้อมนำเสนอความท้าทายเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ 3 ประการ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน ดังนี้
 
ความท้าทายแรก ภูมิภาคเอเชียเปรียบเสมือนจุดสมดุล ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมามหาอำนาจ พยายามรักษา 'ความสมดุล' ที่เหมาะสมในการดำเนินความร่วมมือกับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทำให้เอเชียอยู่ในจุดสำคัญที่ไม่เหมือนใครในเวทีโลก
 
โดยเฉพาะอาเซียนที่มุ่งมั่นรักษาความเป็นแกนกลางและดำเนินความร่วมมือกันเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ทั้งจากสถานการณ์ในเมียนมา ไต้หวัน หรือทะเลจีนใต้ ตลอดจนความความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลาง ทั้งนี้ แม้จะมีความท้าทายแต่เป้าหมายสำคัญที่ทุกฝ่ายควรมี คือนำความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองในระยะยาวมาสู่ประชาชน รวมถึงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค แม้อาเซียนจะไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่อาเซียนมีจุดยืนที่ยังคงระมัดระวัง (ASEAN doesn’t take sides, it doesn’t mean we do not take a stand) และต้องมุ่งมั่นที่จะปกป้องผลประโยชน์บนความเชื่อพื้นฐาน เช่น สถานการณ์ในเมียนมา อาเซียนกำลังทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิด สันติสุข มั่นคง และเป็นเอกภาพ พร้อมอยากเห็นเมียนมากลับมาบนเส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง ไทยสนับสนุนการเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายต่าง ๆ และประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา และพันธมิตรอื่น ๆ รวมถึงยกระดับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำหรับชาวเมียนมาตามแนว ชายแดนของไทย สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เอเชียสามารถเป็นผู้นำผ่านความพยายามร่วมกันและเสียงที่เป็นเอกภาพ เพราะเมื่อรวมกันแล้ว เสียงของเราจะดังที่สุด (Because together, we speak loudest)
 
ความท้าทายที่สอง มีหลายคนกล่าวว่าความร่วมมือ พหุภาคีและโลกาภิวัฒน์กำลังลดลง มหาอำนาจแข่งขันกันเอง ซึ่งนายกรัฐมนตรียังมองเห็นโอกาส ฟื้นคืนจิตวิญญาณของความร่วมมือ และโอกาส เสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค และระหว่างภูมิภาคที่เปิดกว้างและมองไปยังโลกภายนอก ซึ่งประเทศในเอเชียควรร่วมมือกันและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
 
ความท้าทายที่สาม โลกกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things AI เทคโนโลยีทางการเงิน ควอนตัมคอมพิวเตอร์ บล็อกเชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวข้ามขอบเขต ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบด้วย ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์หรือ ความเสียหาย ต้องเตรียมคนให้พร้อม ต้องสร้างสมดุล ทั้งส่งเสริมการศึกษาในระบบ เพิ่มทักษะความรู้ด้านดิจิทัล รวมถึงออกกฎหมายและกฎระเบียบที่ส่งเสริมนวัตกรรม


นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการเสริมสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความท้าทายภายในเอเชีย ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดที่ภูมิภาคเอเชียสามารถสร้างความแตกต่างได้ เพราะไม่มีประเทศใดจะรับมือได้เพียง ลำพัง และในศตวรรษแห่งเอเชีย (Asian Century) นี้ ประเทศในเอเชียจะต้องอยู่ร่วมกัน และแสดงบทบาทนำในเวทีโลกต่อไป ภูมิภาคเอเชียเป็นผู้ผลิตและครัวของโลก มีความสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มีประชากรมากกว่า 4.78 พันล้านคน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก โดยนายกรัฐมนตรีได้นำเสนอถึงประเด็นความร่วมมือเร่งด่วน 3 ประการ ดังนี้
 
ประการแรก การค้าและการลงทุน ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นรากฐานของสันติภาพและเสถียรภาพ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมและมนุษย์ การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงส่งผลสำคัญ ทำให้ประชาชนสามารถเติบโตได้ ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก นำไปสู่ปรากฏการณ์ของการย้ายฐานการผลิตกลับสู่ประเทศแม่และประเทศใกล้เคียง รวมไปถึงการย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศพันธมิตรที่มีความปลอดภัย ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก ภูมิภาคเอเชียจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่เหล่านี้
 
ภูมิภาคเอเชียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่ก็เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ฟื้นตัวได้เร็วที่สุด สามารถต่อสู้กับความท้าทาย มีอิทธิพลและมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์มากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมั่นคง โดยในอนาคต ภูมิภาคเอเชียควรส่งเสริมระบบการค้าแบบพหุภาคีร่วมกับ WTO พร้อมส่งเสริมสภาพแวดล้อมการค้าและการลงทุนที่เสรี เปิดกว้าง ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส และครอบคลุมต่อไป ภูมิภาคเอเชียเดินทางมาไกลผ่านความร่วมมือทาง เศรษฐกิจระดับภูมิภาค เช่น RCEP ซึ่งสร้างขึ้นจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน+1 ที่มีอยู่กับพันธมิตร ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น ทำให้เกิดเป็น FTA ขนาดใหญ่ที่สุด และมี GDP รวมคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก อย่างไรก็ดี ศักยภาพ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเอเชียที่สามารถเติบโตได้มากขึ้น โดยเชื่อว่าการเจรจา FTA ควรมีความสำคัญสูงสุด ต้องใช้เขตการค้าเสรีเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และตลาดสินค้าที่หลากหลาย ปัจจุบันไทยได้ลงนาม FTA 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ โดยล่าสุดกับศรีลังกา และอีก 7 ความตกลงที่อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึง EU และ EFTA ด้วย
 
นอกจากนี้ ไทยแสดงเจตจำนงร่วมเป็นสมาชิก OECD พร้อมขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับการสนับสนุน และแสดงบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่าง OECD กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการลงทุนและยกระดับมาตรฐาน มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างระบบนิเวศในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกเพื่อรักษาและดึงดูดนักลงทุน
 
ประการที่สอง การเปลี่ยนผ่านสีเขียว การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เป็นความรับผิดชอบของทุกคน โดยสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ที่บ้าน(Being green starts at home) ซึ่งในความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับแรกของประเทศไทยจะมีผลบังคับใช้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อดูแลการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโดยรวมของประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะภาคพลังงานและการขนส่ง โดยไทยยินดีรับการลงทุนเพิ่มเติมในด้านไฮโดรเจนสีเขียว และเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึง การขยายตลาดคาร์บอนเครดิต ขณะที่ด้านการขนส่ง รัฐบาลกำลังเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งอนาคต และสร้างอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่ครอบคลุม โดยเป้าหมายแรกคือ การเพิ่มการผลิต EV ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ 30% ภายใน ปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE) ของญี่ปุ่นในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยไทยให้ความสำคัญกับญี่ปุ่น และนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญมายาวนาน ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความร่วมมือของอาเซียน ในการใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศในอาเซียนอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Power Grid) ที่จะช่วย เพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค โดยประเทศไทยมีแนวทางจะเพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี ค.ศ. 2040 ภาคเอกชน และสถาบันการเงินเป็นส่วนสำคัญ สำหรับการสร้างระบบนิเวศ และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลังงานสะอาดนี้ โดยควรจัดให้มีสิทธิประโยชน์ ทั้งด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีให้เหมาะสม ซึ่งการเงินที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นแรงผลักดันหลักได้ โดยประเทศไทยได้ออกตราสารหนี้สีเขียว (Green bonds) ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2021 และจะมีการออกตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งมีมูลค่า ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยินดีต้อนรับนักลงทุนทุกคนให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนภูมิภาคไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น
 
ประการที่สาม การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โลกที่เชื่อมต่อกันทางดิจิทัล ไม่เพียงแต่เชื่อมต่อทางเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังสร้างสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งใน ชีวิตประจำวัน โดยประเทศไทย ประชาชนที่มีความสนใจทางดิจิทัลได้เริ่มเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านนี้แล้ว โดยเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ระบบการชำระเงิน ผ่านคิวอาร์โค้ดขยายตัวรวดเร็ว แอปพลิเคชันส่ง อาหาร และการซื้อของออนไลน์ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็น โดยปัจจุบันระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนของไทยเชื่อมโยงกับหลายประเทศแล้ว ส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคน ไทย
 
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา CEO ของ Microsoft ประกาศแผนการลงทุนสำหรับอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและ AI ผ่าน Data Center ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในประเทศไทย พร้อมด้วยโครงการอื่น ๆ ที่จะพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรรุ่น ใหม่ที่มีความสามารถด้านดิจิทัล และบุคลากรด้านเทคโนโลยีทั่วทั้งอาเซียน โดยถือเป็นการพัฒนาที่ล้ำหน้า และสำคัญต่ออุตสาหกรรมดิจิทัลที่มี เทคโนโลยีขั้นสูงและคลาวด์ที่กำลังเติบโต สิ่งนี้จะช่วยให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพมหาศาลทางเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ซึ่งหากเสร็จสิ้นจะกลายเป็นข้อตกลงระดับภูมิภาคฉบับแรกของโลก โดยคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล ของภูมิภาคเป็นสองเท่า หรือ 2 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2030
 
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทั้งสามประการข้างต้นจะนำภูมิภาคเอเชียเข้าใกล้โลกที่ปรารถนาที่จะเห็นมากยิ่งขึ้น โดยแต่ละประเทศต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพราะไม่มีใครสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้โดยลำพัง เวทีการประชุมอย่าง Nikkei Forum นี้ จึงควรประสานความร่วมมือ โดยนำภาครัฐและเอกชนมาหารือร่วมกันแบ่งปันความคิด แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และบทเรียนร่วมกัน เพราะทุกคนที่อยู่ในชุมชนธุรกิจเหล่านี้ล้วนอยู่เบื้องหลังการเติบโตของเอเชียอย่างแท้จริง
 
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า เอเชียจะต้องรักษาบทบาทนำร่วมกัน เพื่อจุดประกายการเติบโต และฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระบบโลก ซึ่งช่วยสร้างความแข็งแกร่งในยุค Asian Century ขณะนี้ถึงเวลาสู่การปฏิบัติ พร้อมขอให้มั่นใจว่าไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ไทยจะยืนเคียงข้างญี่ปุ่น






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.