ผู้นำเกาหลีใต้ประชุมทวิภาคีกับผู้นำจีน-ญี่ปุ่น
27 พ.ค. 2567, 13:12
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางถึงกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ แล้ว ก่อนที่จะเข้าร่วมประชุมไตรภาคีกับประธานาธิบดียุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้ในฐานะเจ้าภาพ ในวันพรุ่งนี้(27พ.ค.67) ซึ่งถือเป็นการหารือของผู้นำทั้ง 3 เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี
การประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 ประเทศมีขึ้นครั้งแรกปี 2551 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค แต่ปัญหาความบาดหมางทางประวัติศาสตร์ในยุคสงครามโลก และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การประชุมดังกล่าวขาดหายไป โดยการประชุมไตรภาคีหลังสุดมีขึ้นช่วงปลายปี 2562 และทั้งสามฝ่ายตกลงกลับมาจัดประชุมกันอีกครั้งในวันพรุ่งนี้(27 พ.ค.2567)
สื่อเกาหลีใต้รายงานว่า นายยุนได้ประชุมทวิภาคีกับนายหลี่และนายคิชิดะในทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงโซลในวานนี้ (26 พ.ค.2567) โดยเฉพาะการประชุมระหว่างนายยุนกับนายหลี่ มุ่งจะหาลูู่ทางขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความร่วมมือในเรื่องการแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ นับเป็นการเยือนเกาหลีใต้เป็นครั้งแรกของนายหลี่ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมี.ค.2566
นายยุน กล่าวว่าเขาเชื่อว่า เกาหลีใต้และจีนควรจะร่วมมือกันให้แน่นแฟ้นกันมากขึ้น ไม่เฉพาะเพื่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศทั้งสอง แต่เพื่อสันติภาพและความเจริญก้าวหน้าของประชาคมระหว่างประเทศ และย้ำว่าเกาหลีใต้พร้อมจะทำงานกับประเทศจีนเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากสถานการณ์สงครามในยูเครนและการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส
นายหลี่ ย้ำเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสอง พร้อมแสดงความหวังว่าจะมีการพัฒนาความสัมพันธ์ในลักษณะที่เกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่าย ย้ำว่าจีนพร้อมจะทำงานร่วมกับเกาหลีใต้ เพื่อเป็นเพื่อนบ้านที่ดีที่เชื่อถือได้และเป็นหุ้นส่วนที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยให้แต่ละฝ่ายทำงานสำเร็จ
ส่วนการประชุมทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายยุน ขอให้ทั้งสองฝ่ายเพิ่มความพยายามในการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นในโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะฉลอง 60 ปีของการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตในปีหน้า(2568) ขณะที่นายคิชิดะแสดงความหวังว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะสานต่อความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆในระดับโลก พร้อมทั้งร่วมมือผลักดันให้มีการแล่นเรือที่เปิดกว้างและเสรีในน่านน้ำสากลของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก