เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ฮือฮาโคราช ขุดพบ "โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะแบบพิมายดำ" หลักฐานทางโบราณคดีอายุช่วง "ยุคก่อนประวัติศาสตร์"


30 พ.ค. 2567, 17:40



ฮือฮาโคราช ขุดพบ "โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะแบบพิมายดำ" หลักฐานทางโบราณคดีอายุช่วง "ยุคก่อนประวัติศาสตร์"




 

กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา โพสต์เผย พี่นักโบ! พาไปชมร่องรอย "เมืองนครราชสีมา ที่เก่ากว่า 555 ปี" : ข้อมูลใหม่วันนี้ ! จากการขุดตรวจทางโบราณคดีที่กำแพงเมืองทิศตะวันออก

การขุดตรวจทางโบราณคดีเป็นความร่วมมือกันระหว่าง เทศบาลนครนครราชสีมากับสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา โดยดำเนินการขุดตรวจบริเวณกำแพงเมืองนครราชสีมา ด้านทิศตะวันออก (สำนักงานสิ่งเเวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 เดิม) เพื่อตรวจสอบร่องรอยแนวกำแพงเมืองนครราชสีมา ก่อนดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ต่อไปในอนาคต

แน่นอนว่า สิ่งที่เรามุ่งหวังสูงสุดจากการขุดตรวจทางโบราณคดีในครั้งนี้ คือการขุดพบ “แนวกำแพงเมืองนครราชสีมา” ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2199-2231) เเต่สิ่งที่ปรากฏตรงหน้าเราเมื่อขุดลึกลงไปนั้น คือการ ไม่พบ ! กำแพงเมืองนครราชสีมา เลย โดยสันนิษฐานว่าหน่วยงานราชการที่เข้ามาใช้พื้นที่ก่อนหน้านี้มีการปรับพื้นที่ ขุดตักหน้าดินฝังฐานรากอาคาร ส่งผลให้แนวกำแพงเมืองหายเกลี้ยง ! สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีในระดับชั้นดินเดียวกันที่หลักฐานโบราณคดีต่างมีอายุสมัยปะปนกันไป

แต่ในความเสียใจ ยังมีความโชคดี เพราะเมื่อเราขุดตรวจลึกลงไปจนถึงระดับความลึก 150 เซนติเมตรจากผิวดินปัจจุบัน เรากลับพบร่องรอยของมนุษย์โบราณ ที่เก่าไปกว่าอายุ 555 ปีที่เรามักกล่าวถึงอายุของเมืองกันอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีที่เราพบในครั้งนี้ กำหนดอายุเบื้องต้นอยู่ในช่วง 2500-1500 ปีมาเเล้ว

โดยหลักฐานที่ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา (สศก. 10 นม.) พบในครั้งนี้ ประกอบด้วย โครงกระดูกมนุษย์ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว จำนวน 1 โครง ศีรษะมนุษย์วางอยู่บนร่างกายที่หันปลายเท้าหันไปทางด้านทิศตะวันตก จำนวน 1 โครง ตลอดจนพบกลุ่มภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา เเละภาชนะแบบพิมายดำร่วมชั้นวัฒนธรรมดังกล่าวด้วย โดยจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ จึงกำหนดอายุสมัยเบื้องต้นให้อยู่ในช่วง "ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก หรือราว 2500-1500 ปีมาเเล้ว" โดยชั้นวัฒนธรรมดังกล่าวสิ้นสุดลงที่ระดับความลึก 190 เซนติเมตร จากผิวดิน และไม่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีในระดับที่ลึกลงไป จึงนับได้ว่าสิ้นสุดชั้นวัฒนธรรม

การค้นพบหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก หรือราว 2500-1500 ปีมาเเล้ว ในวันนี้ นับเป็นประจักษ์พยานสำคัญของการมีอยู่ของผู้คนในบริเวณเมืองนครราชสีมามาเป็นระยะเวลานานแล้วกว่าพันปี มิใช่เป็นเมืองใหม่ที่ไร้ผู้คนก่อนการสร้างเมืองในสมัยอยุธยาตอนปลายอย่างที่หลายคนเข้าใจ และคำกล่าวเหล่านี้จะมิได้ถูกกล่าวขึ้นอย่างเลื่อนลอยอีกต่อไป เพราะมีหลักฐานทางโบราณคดีช่วยเป็นพยานให้ชัดเจนเเล้ว









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.