เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ม็อบเครือข่ายเกษตรกร 3 จังหวัด เดินทางเข้า กทม. เพื่อทวงถามความคืบหน้าเรื่องหนี้สินของเกษตรกร


25 ต.ค. 2562, 19:31



ม็อบเครือข่ายเกษตรกร 3 จังหวัด เดินทางเข้า กทม. เพื่อทวงถามความคืบหน้าเรื่องหนี้สินของเกษตรกร




เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 25 ต.ค. 62 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรของพระราชา จาก 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร  นครสวรรค์ และพิษณุโลก จำนวนกว่า 500 คน พร้อมด้วยรถยนต์กระบะที่บรรทุกอาหารและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น จำนวนกว่า 65 คัน โดย นายโกวิท เทพไพฑูรย์ อายุ 66 ปี ที่ปรึกษาเครือข่ายเกษตรกรของพระราชา นางราตรี เอี่ยมสะอาด และนายมาโนช อินทะกูล ประธานเครือข่ายฯ ได้เดินทางมาแวะพักค้างคืน ที่บริเวณวัดช้าง ริมถนนสายเอเชีย หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เพื่อที่จะเดินทางต่อไปทวงถามความคืบหน้าเรื่องหนี้สินของเกษตรกรและกองทุนฟื้นฟู ที่ทาง ครม. ได้ทำการอนุมัติมาแล้ว ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง เจ้าหน้าที่เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง เจ้าหน้าที่ปกครอง อำเภอเมืองอ่างทอง เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรและชุดสืบสวน สภ.เมืองอ่างทอง คอยอำนวยความสะดวก

ด้าน นายโกวิท กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรของพระราชาจาก 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้รวมตัวกันเดินทางด้วยรถยนต์กระบะมุ่งหน้าไปกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทวงถามในเรื่องของการ 1.) ขอเพิ่มรายชื่อปรับโครงสร้างหนี้ตามมติ ครม. 2 ต.ค. 61 2.) ให้นำรายชื่อที่เพิ่มเติมเข้า ครม. และ 3.) ให้ธนาคารของรัฐทั้งหมด 5 ธนาคาร ซึ่งประกอบไปด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย และสหกรณ์ รวมถึงบริษัทไฟแนนซ์อีก 20 กว่าบริษัท ซึ่งเป็นมติของ ครม. อยู่แล้ว เกษตรกรที่เป็นหนี้สามารถที่จะปรับโครงสร้างหนี้ได้ ซึ่งเกษตรกรที่เดินทางมาทั้งหมดเป็นเกษตรกรที่มาแจ้งความประสงค์ไว้ ในสมัยที่ คสช. ออกคำสั่งที่ 26/2556 และประเด็นสุดท้ายที่มีการทุจริตในกองทุนฟื้นฟู ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ สตง. และ ปปช. ชี้มูลความผิดแล้ว แต่เรื่องก็ยังค้างคาอยู่ เป็นเหตุให้กองทุนฟื้นฟูไม่สามารถที่จะตั้งงบประมาณได้ จะเบิกจ่ายงบประมาณไม่ได้เพราะงบประมาณเก่ายังไม่ได้รายงานตามกฎหมาย ซึ่งมีกำหนดไว้ว่าจะต้องรายงานทุกปีถ้าเป็นหน่วยงานของรัฐ

นายโกวิท ยังกล่าวต่ออีกว่า การฟื้นฟูอย่างเข้มข้นไม่ได้เป็นแบบนโยบายอย่างทุกวันนี้ จำนำบ้าง ประกันราคาบ้าง การฟื้นฟูเบื้องต้นต้องทำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารโดยเกษตรกรเอง สีข้าวสารขายเพราะราคาข้าวสารแพงกว่าข้าวเปลือก รายได้ของเกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้มีเงินไปใช้หนี้โดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาล ซึ่งตนเองได้ทำการประสานกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่าในวันอาทิตย์ที่ 27 ต.ค. 62 ที่จะถึงนี้ นายสุธัญญ์ ฤทธิ์ขาบ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) พร้อมคณะจะเดินทางมาที่วัดช้าง เพื่อร่วมพบปะพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป

 



 


 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.