โฆษกรัฐบาลเผย รัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ขยายการลงทุนต่อเนื่อง วางรากฐานด้านดิจิทัล-เพิ่มขีดความสามารถด้าน AI
3 มิ.ย. 2567, 12:28
วันนี้ ( 3 มิถุนายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy Hub) ตามวิสัยทัศน์ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนการทำ Business Matching กับบริษัทชั้นนำระดับโลก พร้อมดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้ามาขยายธุรกิจในไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความพร้อมด้านดิจิทัลในประเทศ ทั้งในบริการภาครัฐ การศึกษา และภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล พร้อมยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ขานรับนโยบายของรัฐบาล สร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการลงทุนด้านดิจิทัลในประเทศผ่านการจัดงาน Digital Governance Thailand 2024 (DGT2024) ระหว่างวันที่ 29 - 30 พฤษภาคม 2567 โดยมีหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง Tech Company และ Service Provider ชั้นนำของไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมกว่า 120 องค์กร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรม Business Matching จากบริษัทชั้นนำ สนับสนุนโอกาสในการต่อยอดและขยายเครือข่ายการดำเนินงาน พร้อมพัฒนาทักษะดิจิทัลของประชาชนในทุกกลุ่ม โดยประเทศไทยในตอนนี้ถือว่ามีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) โดยบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาลงทุนด้านดิจิทัลในไทย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการสนับสนุนและดึงดูดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รัฐบาลยังผลักดันการวางรากฐานความพร้อมของประเทศ ผ่านการพัฒนาโครงการบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐและด้านสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งผลักดันนโยบายการใช้บริการคลาวด์ภาครัฐ (Cloud Frist Policy) และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยี AI ไปต่อยอด นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้สนับสนุนการสร้างระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและปัญหาด้านการประยุกต์ใช้ AI โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินหน้าสนับสนุนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 - 2570) ผ่านนโยบาย “อว. for AI” ซึ่งมีการดำเนินงานใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) AI for Education การใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุดและเร็วที่สุด สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) AI workforce development การพัฒนาบุคลากรและการสร้างพื้นฐานด้าน AI ให้คนไทยในระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน และ 3) AI innovation การสนับสนุนนวัตกรรม AI สู่ตลาด การพัฒนามาตรฐานและทดสอบ ส่งเสริมให้เกิดความแพร่หลายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย
“นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค ผ่านการเชิญชวนภาคเอกชนชั้นนำระดับโลกเข้ามาลงทุนและขยายการลงทุนในไทยมากขึ้น ทั้งในด้านเทคโนโลยี High Tech การผลิต Semiconductor และการตั้ง Data Center รวมถึงการวิจัยและการนำ AI มาใช้งานในไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อรองรับสู่โลกดิจิทัลและการเติบโตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเพิ่งมีข่าวดีที่ AWS ประกาศแผนลงทุนในไทย 1 แสน 9 หมื่น ล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ศักยภาพและการเตรียมความพร้อมของไทยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จะสนับสนุนให้ไทยประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ Digital Economy Hub” นายชัย กล่าว