พม. เน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิบนฐานของการไม่เลือกปฏิบัติและประโยชน์สูงสุดของเด็ก
13 มิ.ย. 2567, 09:28
วันนี้ (13 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ภายใต้การนำของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งที่ประชุม ครม. รับทราบ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทราบต่อไป
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 มกราคม 2567) และมอบหมายให้ พม. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่อง ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ที่เห็นว่า ไทยควรถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยเร็ว และควรประกันว่า การกำหนดความหมายของ “เด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง” ในกรอบกฎหมายและนโยบายของประเทศไทยจะไม่ตัดสิทธิของเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการได้รับความคุ้มครองตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ตามที่ กสม. เสนอ ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ พม. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก สลค. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
พม. ได้เสนอรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะของ กสม. ในเรื่องดังกล่าว โดยได้รวบรวมความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมายจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 เป็นกรรมการ และเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาตามข้อเสนอแนะของ กสม. ในเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีผลการพิจารณาในภาพรวมว่า
- ประเทศไทยมีมาตรการและกลไกที่เพียงพอที่จะรองรับพันธกรณีภายใต้ ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ เนื่องจากเป็นการเน้นย้ำความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิบนฐานของการไม่เลือกปฏิบัติและประโยชน์สูงสุดของเด็กตามอนุสัญญาฯ และอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้ง คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาความพร้อมของประเทศไทยต่อการถอนข้อสงวนของอนุสัญญาฯ และคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติได้เห็นชอบการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ด้วยแล้ว
- ส่วนการกำหนดความหมายของ “เด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง” ในกรอบกฎหมายและนโยบายของประเทศไทยจะไม่จำกัดสิทธิของเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการได้รับความคุ้มครองตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ โดยได้มีมาตรการที่เหมาะสมในการรองรับเด็กแต่ละกลุ่ม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก