"ไทย-อินเดีย" สานต่อความร่วมมือทวิภาคีหลากด้าน มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการค้ามูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
17 มิ.ย. 2567, 09:30
วันนี้ (17 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย - อินเดีย ครั้งที่ 10 (10th Joint Commission for Bilateral Cooperation between Thailand -India) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงนิวเดลี อินเดีย โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นประธานร่วม โดยได้มีการลงนามในเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ และเห็นชอบมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการประชุมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา (11 มิถุนายน 2567) ครม. มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ และการลงนามในเอกสารผลลัพธ์ ตามที่ กต. เสนอ โดยสาระสำคัญของผลการประชุม เช่น ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้เพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยจะพิจารณาแก้ไขปัญหาการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการค้ามูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเร็ว และเห็นพ้องให้มีการส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ รวมทั้งมีประเด็นสำคัญซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป เช่น
การเมือง/ความมั่นคง
-การสถาปนาความสัมพันธ์ไทย – อินเดียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ โดยประเด็นที่ต้องดำเนินการ ติดตามการพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมฯ กับฝ่ายอินเดีย
เศรษฐกิจ
-การผลักดันให้อินเดียพิจารณายกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีต่อสินค้าไทย โดยประเด็นที่ต้องดำเนินการ ติดตามพัฒนาการและเรียกร้องให้อินเดียยกเลิกมาตรการต่าง ๆ
-ชักชวนนักลงทุนอินเดียให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยประเด็นที่ต้องดำเนินการ พิจารณามาตรการหรือสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดนักลงทุนอินเดียตามความเหมาะสม พิจารณาจัดกิจกรรมในลักษณะ road show เพื่อแสดงศักยภาพของ EEC ในอินเดีย
ความเชื่อมโยง
-โครงการถนนสามฝ่ายอินเดีย – เมียนมา-ไทย โดยประเด็นที่ต้องดำเนินการ พิจารณาประสานกับอินเดียและเมียนมาเพื่อให้มีการลงนามในความตกลงยานยนต์ถนนสามฝ่าย (IMT Motor Vehicle Agreement) ในโอกาสแรกและผลักดันการเจรจาเนื้อหาในพิธีสารแนบท้ายต่อไป
-การเพิ่มสิทธิความจุการบิน โดยประเด็นที่ต้องดำเนินการ ฝ่ายไทยประสงค์เจรจาเพื่อเพิ่มสิทธิความจุให้แก่สายการบินพาณิชย์ของไทยในเที่ยวบินที่เดินทางไปอินเดีย
-โครงการแลนด์บริดจ์ โดยประเด็นที่ต้องดำเนินการ ฝ่ายไทยเชิญชวนให้ภาครัฐและเอกชนอินเดียร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเรือระหว่างกัน
ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี
-การประชุมผู้นำบิมสเทค โดยประเด็นที่ต้องดำเนินการ ประสานกับประเทศสมาชิกเพื่อกำหนดวันจัดการประชุม