มท.1 เผยบกปภ.ช ประกาศลดระดับจัดการสาธารณภัย 4 จังหวัดอีสาน ยันติดตามต่อเนื่อง
27 ต.ค. 2562, 13:31
วันนี้ ( 27 ต.ค.62 ) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2562 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และจังหวัดร้อยเอ็ด เนื่องจากอิทธิพลพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์น้ำในลำน้ำสายสำคัญได้ลดระดับต่ำกว่าตลิ่งในทุกจุดและน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ชุมชนได้แห้งลง คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟูเพื่อปรับสภาพการดำรงชีพ ระบบสาธารณูปโภค และความเป็นอยู่ของประชาชนที่ประสบภัย ให้กลับสู่ภาวะปกติ
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จึงให้ลดระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) กรณีอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดกลาง (ระดับ 2) ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด เป็นผู้สั่งการ ควบคุม และบัญชาการในพื้นที่จังหวัด เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกมิติที่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ในห้วงที่ผ่านมาภายใต้การดำเนินการตามแนวทางของรัฐบาล กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้อำนวยการ ควบคุม กำกับประสานการปฏิบัติโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประชาชนจิตอาสา และภาคเอกชนในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง และพลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยและร่วมกิจกรรมฟื้นฟูศาสนสถาน และชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้เกิดความร่วมมือและบูรณาการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านต่าง ๆ
สรุปได้ ดังนี้ 1) ด้านชีวิต กรณีผู้เสียชีวิต มีรายงานแล้ว จำนวน 41 ราย และได้ให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตทุกรายแล้ว 2) ด้านที่อยู่อาศัย ขณะนี้ได้บูรณาการหน่วยงานเข้าช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนให้ประชาชนแล้ว 13,804 หลัง โดยจะเร่งซ่อมสร้างในส่วนที่เหลือต่อไป 3) ด้านสิ่งสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า – ประปา – ระบบโทรคมนาคม และเส้นทางคมนาคม) สามารถใช้บริการได้ครบแล้ว และสถานที่ราชการ สถานบริการสาธารณสุข โรงเรียน ศาสนสถาน สามารถใช้บริการได้ตามปกติทุกแห่ง 4) ด้านการประกอบอาชีพ ในภาคการเกษตร ทั้งด้านการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ได้ทำการสำรวจผลกระทบ โดยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรด้วยการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ อาหารสัตว์ พันธุ์สัตว์น้ำ และซ่อมแซมเครื่องมือประกอบอาชีพ และอยู่ระหว่างการปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือต่อไป 5) ด้านสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทีมปฏิบัติการระดับจังหวัด ได้เร่งดูแล เยียวยา กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ คนพิการ เด็ก ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียง พร้อมจัดทีมนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักพัฒนาสังคม ออกเยี่ยมบ้าน ให้คำปรึกษา แนะนำ บำบัด ฟื้นฟูจิตใจและให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นด้านอื่น ๆ และ 6) ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้ส่งทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์เข้าดูแลประชาชนทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจอย่างใกล้ชิด มีการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ และเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคที่อาจมีการระบาดในพื้นที่
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จะยังคงกำกับ ติดตาม ประสาน และสนับสนุนการปฏิบัติงานของจังหวัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งพื้นฟูให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว