เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



แพทย์ เผยหญิงไทยป่วยมะเร็งปากมดลูก ปีละ 5 พันคน เสียชีวิต 3,000 ราย


25 มิ.ย. 2567, 17:39



แพทย์ เผยหญิงไทยป่วยมะเร็งปากมดลูก ปีละ 5 พันคน เสียชีวิต 3,000 ราย





 

25 มิ.ย. 67 มีรายงานว่า นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช และรองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งขณะนี้เป็นมะเร็งลำดับที่ 5 ที่พบได้มากในผู้หญิงไทย โดยแต่ละปีจะพบผู้ป่วยราว 5,000 ราย เสียชีวิตประมาณ 3,000 ราย พบมากในผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปจนถึง 60 ปี เนื่องจากธรรมชาติของโรคมะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่มักจะได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายตั้งแต่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์

โดยคำว่า “เพศสัมพันธ์” ไม่ได้หมายถึงลักษณะของการสอดใส่ด้วยอวัยวะเพศอย่างเดียวเท่านั้น ยังรวมถึงการสัมผัสด้วยนิ้วมือ หรือการทำออรัลเซ็กส์ (Oral Sex) หลังจากที่ร่างกายรับเชื้อไวรัส HPV แล้วจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการก่อโรค ฉะนั้น ถ้ารับเชื้อไวรัสเมื่อตอนอายุ 20 กว่าปี แล้วไม่เคยคัดกรองการติดเชื้อไวรัส HPV เลย จะมารู้ตัวอีกทีตอนที่เป็นโรคมะเร็งแล้วในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป

นพ.ศุภกร กล่าวว่า สำหรับไวรัส HPV มีเป็นร้อยสายพันธุ์แต่ตัวที่ก่อโรคมะเร็งคือ สายพันธุ์เสี่ยงสูง 14 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ก่อมะเร็งปากมดลูก ส่วนอีก 12 สายพันธุ์ ก็จะก่อโรคในกลุ่มหูดหงอนไก่และอื่นๆ

สำหรับความกังวลว่าจะเกิดการติดเชื้อไวรัส HPV จากสิ่งแวดล้อม เช่น การเข้าห้องน้ำสาธารณะนั้น ข้อมูลปัจจุบันชี้ว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการเชื้อไวรัสจะต้องถูกนำพาเข้าสู่ช่องคลอดหรือปากมดลูก ดังนั้น การเข้าห้องน้ำเป็นการสัมผัสภายนอก เชื้อก็จะไม่สามารถเข้าไปภายในช่องคลอดได้ ซึ่งเป็นข้อต่างของการติดเชื้อในเพศชาย ที่มีอวัยวะเพศไม่ได้ซับซ้อนเหมือนเพศหญิง

เมื่อได้รับเชื้อไวรัส HPV ก็มีโอกาสติดเชื้อและหายได้เอง ดังนั้นโอกาสที่เชื้อไวรัส HPV จะก่อให้เกิดมะเร็งในเพศชาย เช่น มะเร็งองคชาตก็จะน้อยมาก ไม่เหมือนกับมะเร็งปากมดลูกที่เกือบ 100% เกิดจากไวรัส HPV

“สถานการณ์ปัจจุบันเริ่มเจอผู้ป่วยที่อายุน้อยลง เนื่องจากพฤติกรรมทางเพศที่เกิดเร็วขึ้น และไม่เคยคัดกรองการติดเชื้อไวรัส HPV มาก่อน พอมาเจออีกทีก็เกิดเป็นมะเร็งไปแล้ว ดังนั้นความสำคัญของการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก คือการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV และการตรวจคัดกรองหาเชื้อ HPV” นพ.ศุภกร กล่าว

นพ.ศุภกร กล่าวต่อว่า การตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัส HPV อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่คนไทยทุกคนในทุกสิทธิการรักษาสามารถเข้ารับบริการได้ โดยจะต้องมีอายุ 30 ปีขึ้นไปจนถึง 60 ปี หากการตรวจครั้งแรกไม่พบความผิดปกติ ก็จะตรวจซ้ำทุกๆ 5 ปี

แต่ถ้ากรณีตรวจแล้วพบความผิดปกติ ก็จะเข้าสู่กระบวนการวินิจด้วยการส่องกล้องปากมดลูกเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ปัจจุบันรัฐบาลโดย สปสช. ได้จัดชุดสิทธิประโยชน์ในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกอีกหนึ่งเรื่อง คือ การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ฟรีในกลุ่มเด็กหญิงอายุ 9 – 20 ปี ซึ่งจะฉีดจำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 1 ปี

“สำหรับวัยผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 20 ปี ที่อยากฉีดวัคซีน HPV คำแนะนำทางการแพทย์คือให้ 3 เข็มเนื่องจากการสร้างภูมิคุ้มกันอาจไม่สูงเท่าการฉีดในเด็ก ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV กรณีที่ไม่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน วัคซีนก็จะได้ประสิทธิภาพในการป้องกันเกือบ 100% เหมือนการฉีดในเด็ก” นพ.ศุภกร กล่าว

นพ.ศุภกร กล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีน HPV สำหรับผู้ใหญ่นั้น ไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. แต่ในเรื่องของความคุ้มค่าและการป้องกันโรคแล้ว การฉีดวัคซีนถือเป็นประโยชน์ ต่อให้ตัวเองอาจเคยรับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้ว แต่ด้วยวัคซีนสามารถป้องกันเชื้อได้หลายสายพันธุ์ ดังนั้น เซลล์ที่ยังไม่เคยติดเชื้อนั้น การฉีดวัคซีนก็ยังมีประโยชน์

ส่วนคำถามว่า การฉีดวัคซีนแล้วต้องฉีดซ้ำหรือไม่นั้น ต้องย้ำว่าวัคซีน HPV ถือว่าเป็นวัคซีนใหม่ ที่ออกมาเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลในปัจจุบันจึงยังไม่มีคำแนะนำว่า ต้องฉีดกระตุ้น และภูมิฯ จะอยู่ได้นานแค่ไหน ก็ต้องรอติดตามข้อมูลอีกครั้ง

แต่คำแนะนำคือหากมีความพร้อมในการฉีดวัคซีน ก็ควรฉีดดีกว่า เพื่อป้องกันโรค ยกเว้นแต่ความเสี่ยงต่ำจริงๆ เช่น อายุมากจริงๆ มีการตรวจคัดกรองทุกปี และมั่นใจว่าไม่มีโอกาสไปรับเชื้อ ก็อาจจะไม่คุ้มค่าที่จะฉีด









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.